แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย ดีอย่างไรต่อเศรษฐกิจและคนทั่วไป
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย ดีอย่างไรต่อเศรษฐกิจและคนทั่วไป
ธปท. โดย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 1.75% มาอยู่ที่ 1.50% เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าที่หดตัว
การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นับเป็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยครั้งล่าสุดที่ กนง. มีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย คือ 28 เม.ย. 2558 ปรับลดจาก 1.75% เป็น 1.50% ต่อมา 19 ธ.ค. 2561 กนง. มีมติให้ขึ้นดอกเบี้ยจาก 1.50% เป็น 1.75%
มติลดดอกเบี้ยครั้งนี้สร้างความประหลาดใจให้แก่นักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชน แต่ถือเป็นการทำตามเสียงเรียกร้องของนักธุรกิจส่งออกที่อยากให้ ธปท. ลดดอกเบี้ยมาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนลง เป็นผลดีต่อราคาสินค้าส่งออกจากไทย
3 ชาติ ประกาศลดดอกเบี้ยวันนี้
ประเทศไทยเป็นชาติที่ 3 ในเอเชีย-แปซิฟิก ที่ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานในวันพุธ เริ่มจาก ธนาคารกลางของนิวซีแลนด์ที่ประกาศลดดอกเบี้ยมาตรฐานลง 0.50% เป็น 1% ตามด้วยธนาคารกลางของอินเดีย ที่ลดดอกเบี้ยมาตรฐานลง 0.35% เป็น 5.40% ต่างอ้างเหตุผลการค้าโลกที่ชะลอตัวเนื่องจากสงครามการค้าที่กำลังดำเนินไป
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. แถลงว่า กนง. เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าที่หดตัว นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจากการลดอัตราดอกเบี้ยจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขัน และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต
"การส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ตามเศรษฐกิจคู่ค้า และปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรง และขยายวงกว้างมากขึ้น ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ส่าหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตรและการจ้างงานที่ปรับลดลง โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตเพื่อส่งออก รวมทั้งยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตมายังไทย และโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป" นายทิตนันทิ์ ระบุในเอกสารเผยแพร่
นักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชนไทยมองว่า กนง. ตัดสินใจถูกต้องเพื่อป้องกันเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบของสงครามการค้า แต่ไม่มีผลโดยตรงต่อเงินในกระเป๋าของประชาชนทั่วไปมากนัก
เกิดอะไรขึ้นเมื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ธปท. หรือแบงก์ชาติ อธิบายว่า หาก กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ
*อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินและของธนาคารพาณิชย์จะปรับลดลงตาม ทั้งในส่วนของดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้
*อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลงทำให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจที่จะกู้ยืมเพื่อลงทุนมากขึ้น
*อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำลงจะลดแรงจูงใจของประชาชนที่จะนำเงินมาฝากออมไว้กับธนาคาร และอาจนำเงินเหล่านั้นไปจับจ่ายใช้สอยแทน
ธปท. สรุปว่า "อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจึงช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ตรงกันข้าม หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับสูงขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะมีแนวโน้มชะลอลง"
กนง. คือ ใคร
ธปท. มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศโดยใช้นโยบายการเงิน ซึ่งมีเครื่องมือที่สำคัญ คือ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายผ่าน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. 3 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 คน ประชุมกันปีละ 8 ครั้ง เพื่อลงมติตัดสินระดับของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมกับภาวะและแนวโน้มของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
"เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง"
ผศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และ รศ. ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ให้ความเห็นกับบีบีซีไทยภายหลัง มติลดดอกเบี้ยนโยบายวันนี้ โดยเห็นพ้องว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และวิเคราะห์ไปในแนวทางเดียวกันว่าการลดดอกเบี้ยจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง แต่จะไม่ส่งผลลบหรือบวกโดยตรงกับเงินในกระเป๋าของประชาชนมากนัก
บีบีซีไทยสรุปความเห็นของ ผศ. ดร.อนุสรณ์ และ รศ. ดร.สมชาย ต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ดังนี้
เหตุผลที่ กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบาย
ผศ.ดร.อนุสรณ์ : แบงก์ชาติน่าจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดและอัตราเงินเฟ้อก็ต่ำกว่าเป้าหมาย จึงมีความจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมล่วงหน้า เพราะเห็นสัญญาณอยู่แล้วว่าผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ น่าจะรุนแรงและขยายวงมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐฯ อีกด้วย ตอนนี้ สถานการณ์เรื่องลัทธิกีดกันทางการค้าเป็นประเด็นใหญ่ของเศรษฐกิจโลกและการค้าโลก ซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจของไทยที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเยอะ การดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยไม่ให้ขยายตัวต่ำจนเกินไป เพราะถ้ารอมาตรการทางการคลังก็อาจจะไม่ทันการณ์ เนื่องจากกว่ารัฐบาลจะอนุมัติงบประมาณปี 2563 ได้ก็น่าจะเป็นต้นปีหน้า
รศ.ดร.สมชาย: ตอนนี้เศรษฐกิจไทยถูกห้อมล้อมด้วยภยันตรายจากสงครามการค้า รวมทั้งเรื่องเบร็กซิต การส่งออกของเราก็ติดลบ ขณะที่เครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจของเราก็จำกัดเพราะต้องรอการอนุมัติงบประมาณปีหน้า แบงก์ชาติคงคิดว่าถ้ารอให้สถานการณ์แย่กว่านี้อาจไม่ทันการณ์ การตัดสินใจครั้งนี้ แบงก์ชาติคงจะพยายามไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งจนเกินไป ช่วยเรื่องการส่งออก และป้องกันไม่ให้ต่างชาติมาใช้ประเทศไทยเป็นแหล่งลงทุนในทรัพย์สินปลอดภัย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข่าว การลดดอกเบี้ยส่งผลให้ค่าเงินลงมาอยู่ที่ 30.81 ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงบ่ายของวันพุธ ค่าเงินบาทแข็งขึ้นแล้วราว 5.6% นับแต่ต้นปีที่ผ่านมา ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจของธนาคาร ING ของเนเธอร์แลนด์คาดว่าค่าเงินบาทจะยังแข็งต่อเนื่องเหนือค่าเงินอื่นในภูมิภาคเอเชีย แต่จะลดลงอยู่ที่ 31.5 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปีนี้
หลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น
ผศ.ดร.อนุสรณ์: เงินบาทอาจจะอ่อนค่าลงนิดหน่อย การแข็งค่าของเงินบาทอาจจะชะลอตัวลง แต่คงไม่มีนัยสำคัญที่จะมีผลต่อราคาน้ำมัน เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ลดลงด้วย
รศ.ดร.สมชาย: การส่งออกจะดีขึ้นบ้างเล็กน้อย แต่ผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมคงไม่ได้ช่วยอะไรมาก เพราะมาตรการทางการเงินเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น ต้องอาศัยมาตรการทางการคลังเพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน กระตุ้นการท่องเที่ยวซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงมาตรการทางการเงินที่มาช่วยประคองไม่ให้เศรษฐกิจไทยทรุดไปมากกว่านี้
ลดดอกเบี้ยจะกระทบเงินในกระเป๋าเราอย่างไร
ผศ.ดร.อนุสรณ์: การลดดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง การลดดอกเบี้ยจะดีต่อคนที่เป็นหนี้ ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากที่จะทยอยลดลงตามด้วยนั้นไม่น่าส่งผลกระทบมาก เพราะส่วนใหญ่คนที่มีเงินฝากก็เป็นคนที่ไม่เดือดร้อนเรื่องเงินอยู่แล้ว นโยบายที่จะกระทบต่อเงินในกระเป๋าหรือค่าครองชีพของคนทั่วไปจริง ๆ คือ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งต้องรอดูว่ารัฐบาลจะมีนโยบายอย่างไร แต่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็มีความจำเป็น
รศ.ดร.สมชาย: ไม่ได้กระทบโดยตรง ถ้าเป็นในประเทศอื่นอาจจะส่งผลให้เงินฝากลดน้อยลง แต่ของไทย ดอกเบี้ยเงินฝากเราค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว จึงไม่น่ามีผลกระทบมาก ผลลัพธ์ที่สำคัญของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายคือ ช่วยไม่ให้การส่งออกของเรากระทบจากค่าเงินที่แข็งค่า และบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่ลงในขณะนี้
" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น