กระเป๋าหนักไม่เกี่ยวกระดูกหลังคด แต่เด็กหญิงมีความเสี่ยง 2 ใน 100 คน
วันที่1 ส.ค. ผู้ปกครองของน้องโทนี่ อายุ14 ปี ชาวอำเภอชุมแพ จ.ขอนแก่น พาลูกสาวที่มีอาการกระดูกสันหลังคดงอเข้าพบแพทย์หญิงดวงพร อัศวราชันย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น และนายแพทย์วรการ ครุวาทนนท์ แพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ แพทย์ที่ทำการรักษาโรคกระดูก โรงพยาบาลชุมแพ เพื่อให้แพทย์ตรวจร่างกายอย่างละเอียด หลังจากเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้ปกครองได้พาน้องโทนี่ไปเข้ารับการรักษาอาการไข้ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองขอนแก่น
นายแพทย์วรการ แพทย์ออร์โธปิดิกส์ กล่าวว่า จากการเอ็กซเรย์พบว่าจุดที่กระดูกสันหลังเกิดการคดงออยู่ที่บริเวณระดับหน้าอก มีการคดงอประมาณ 27.6 องศา เอียงไปทางขวา อยู่ในระยะที่ไม่รุนแรงจนถึงขั้นต้องผ่าตัดจัดเรียงกระดูกใหม่ ส่วนสาเหตุของการคดงอนั้น จากการตรวจระบบประสาทของน้องโทนี่ก็ไม่พบว่ามีความผิดปกติที่จะเป็นปัจจัยทำให้เกิดการคดงอของกระดูกสันหลังตามที่มีการสันนิษฐานได้ และยืนยันว่าการสะพายกระเป๋าหนักๆ ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้กระดูกสันหลังคดงอได้ แต่จะทำให้เกิดการปวดเหมื่อยกล้ามเนื้อเท่านั้น
ที่สำคัญคือยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่าการสะพายกระเป๋าหนักๆจะส่งผลต่อกระดูกสันหลัง โดยเบื้องต้นยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากกรรมพันธุ์หรือไม่ แต่ในทางการแพทย์ระบุได้เพียงว่าเป็นการคดงอแบบไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งแนวทางการรักษาสามารถทำได้ 2 วิธี วิธีแรกคือ การให้ใช้ชีวิตตามปกติแต่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงการแบกของหนัก และจะต้องเข้ามาตรวจดูอาการกับแพทย์ทุกๆ 6 เดือน ส่วนวิธีที่ 2 คือ การสวมเสื้อเกราะทุกวันวันละ 23 ชั่วโมง ซึ่งวิธีนี้จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและจิตใจของผู้สวมใส่ ซึ่งการรักษาทั้ง 2 วิธีจะไม่สามารถทำให้กระดูกสันหลังที่คดงอกลับมาตรงเป็นปกติได้เป็น แต่จะเป็นเพียงการพยุงไม่ให้กระดูกสันหลังที่คดงออยู่แล้ว คดงอมากกว่าเดิมเท่านั้น เบื้องต้นได้ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองของน้องโทนี่แล้วว่าจะรับการรักษาด้วยวิธีการใด
ด้านแพทย์หญิงดวงพร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ระบุว่า โรคกระดูกสันหลังคดงอส่วนใหญ่ที่พบ มักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉลี่ยในจำนวนประชากร 100 คนจะมีเพียง 2 คนที่ป่วยด้วยโรคนี้ และส่วนใหญ่จะพบในเพศหญิงที่อยู่ในวัยเจริญเติบโต มีอายุตั้งแต่ 3 - 18 ปี ซึ่งการรักษาจะแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบแล้วแต่ว่าการคดงอของกระดูกมากน้อยเพียงใด เช่น หากการคดงอต่ำกว่า 20 องศา ก็จะใช้วิธีการสังเกตอาการและมาตรวจด้วยการเอ็กซเรย์ทุก 6 เดือน แต่หากกระดูกคดงอตั้งแต่ 20 - 40 องศา การรักษาจะใช้วิธีสวมเสื้อเกราะ และหากกระดูกคดงอมากกว่า 40 องศา ก็จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดจัดเรียงกระดูกใหม่
กรณีของน้องโทนี่ถือว่าโชคดีที่การคดงอยังไม่ถึงระดับที่รุนแรง แต่สิ่งที่คนรอบข้างต้องให้ความสำคัญคือสภาพจิตใจของเด็กที่มีอาการป่วยในลักษณะนี้ โดยจะต้องไม่ทำให้เด็กถูกมองว่าเป็นปมด้อย หรือเพื่อนๆ จะต้องไม่ล้อเลียน เพราะอาจทำให้เด็กที่ป่วยเกิดความเครียดและซึมเศร้าได้
อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลชุมแพได้ฝากถึงผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่เป็นผู้หญิง อายุระหว่าง 10 - 18 ปีให้สังเกตบุตรหลานของตนเองว่ามีอาการกระดูกสันหลังคดงอหรือไม่ โดยการตรวจคัดกรองด้วยการให้บุตรหลานถอดเสื้อออก ยืนตัวตรงแล้วก้มลงเอาปลายนิ้วมือแตะที่พื้น แล้วให้ผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดยืนอยู่ด้านหลัง หากกระดูกสันหลังมีความผิดปกติ เช่น คดงอ ก็จะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน และหากพบแล้วก็ควรรีบพาไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษาได้ทันท่วงที เพราะหากปล่อยไว้นานจนอายุย่างเข้า 20 ปี การรักษาก็จะทำได้ยาก
ด้านผู้ปกครองของน้องโทนี่ กล่าวว่า ตอนนี้รู้สึกสบายใจมากขึ้น หลังจากพาลูกสาวเข้าตรวจร่างกายกับแพทย์ ทำให้ทราบแน่ชัดว่าการคดงอของกระดูกสันหลังไม่ได้มาจากน้ำหนักกระเป๋า ส่วนวิธีการรักษาตอนนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจเพราะอยากปรึกษาพูดคุยกับลูกสาวก่อนและจะมาพบแพทย์ตามนัดอีกครั้ง