สาย “ชาไข่มุก” ต้องรู้น้ำตาลสูงเสี่ยงเบาหวาน บางแก้วเกือบ 19 ช้อนชา
เตือนกินชานมไข่มุก ระวังเบาหวาน! จาก 25 ยี่ห้อดัง พบน้ำตาลน้อยสุด 4 ช้อนชา มากสุดเกือบ 19 ช้อนชา ต่อ 1 แก้ว ขณะที่ WHO เผยเม็ดไข่มุก 100% มีสารกันบูด
ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดย โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างชานมไข่มุกทั้งหมด 25 ยี่ห้อ ขนาดแก้วปกติแบบไม่ใส่น้ำแข็ง เมื่อพฤษภาคม 2562 ซึ่งมีราคาตั้งแต่แก้วละ 23 - 140 บาท พบว่า ยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลต่อแก้วน้อยที่สุดจะมีมีปริมาณน้ำตาลเท่ากับ 16 กรัม หรือ 4 ช้อนชา และ ยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลต่อแก้วมากที่สุด คือมีปริมาณน้ำตาล 74 กรัม หรือ 18.5 ช้อนชา ขณะที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำปริมาณน้ำตาลที่ได้รับต่อวัน ไม่ควรเกิน 24 กรัม หรือ 6 ช้อนชา
นอกจากนี้ ยังได้ทดสอบ โลหะหนักในเม็ดไข่มุกทั้งหมด 25 ยี่ห้อ
ทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนของตะกั่ว แต่ เมื่อนำไปทดสอบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และกรดซอร์บิก (Sorbic acid) ในเม็ดไข่มุก พบว่า ยี่ห้อที่มีปริมาณสารกันบูดน้อยที่สุด เท่ากับ 58.39 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และยี่ห้อที่พบปริมาณสารกันบูดรวมมากที่สุด เท่ากับ 551.09 มิลลิกรัม/กิโลกรัม "ไม่เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด"
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า หากลองนึกภาพตามว่าน้ำตาลปริมาณ 19 ช้อนชานั้นมากมายขนาดไหน ก็จะทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการบริโภคได้มากขึ้น และทุกยี่ห้อมีสารกันบูด แต่ไม่มียี่ห้อไหนที่ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคเลย
ด้าน ทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล รองผู้จัดการโครงการฯ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน บอกอีกว่า "องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา (24 กรัม) แม้เครื่องดื่มจะมีน้ำตาลน้อยกว่า 24 กรัม แต่ก็พบว่า ในหนึ่งแก้วผู้บริโภคได้รับปริมาณน้ำตาลต่อวันไปแล้ว 2 ใน 3 ขณะที่ชาไข่มุกบางยี่ห้อมีปริมาณน้ำตาลที่ควรได้รับถึง 3 เท่า"
ดังนั้น เครื่องดื่มเหล่านี้ จึงเป็นเครื่องดื่มที่ควรงดการดื่มเพราะเป็นแหล่งอุดมน้ำตาล ซึ่งปริมาณน้ำตาลที่สูงหากได้รับในคราวเดียว จะรบกวนระบบการ metabolite ซึ่งจะทำให้เกิดเป็น กลุ่มโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต (NCDs ) ได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วนลงพุง โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น "