แนะลูกหนี้หยุดจ่ายรอศาลชี้ขาด เตือนระวังเจรจาประนอมหนี้
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าววานนี้ (30 ก.ย.) ว่า เนื่องจากในปัจจุบันได้มีลูกหนี้ที่มีปัญหาได้โทรศัพท์มาสอบถามเพื่อขอความช่วยเหลือถึง 100 สายต่อวัน โดยมีความเดือดร้อนที่ต่างกัน จากลูกหนี้บัตรเครดิตทั้งหมดประมาณ 11.2 ล้านบัตร หนี้สินเชื่อบุคคลประมาณ 7 ล้านบัญชี แต่ที่สำคัญต้องการแนะนำลูกหนี้ว่า หากมีปัญหาหนี้บัตรเครดิตหลายใบและมีปัญหาการผ่อนชำระ โดยปัญหาค่อนข้างวิกฤติแล้ว หากยังชำระต่อไป ต้องประสบปัญหาต่อค่าใช้จ่ายในครอบครัวต้องใช้วิธีการหมุนเวียนไปกดเงินจากบัตรเครดิตใบอื่น เพราะยังห่วงเรื่องเครดิตของตัวเอง ถือว่าเป็นแนวทางไม่ถูกต้อง
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวต่อว่า แนวทางที่ดีที่สุดคือ หากปัญหาหนี้ไม่มากนักให้เลือกชำระขั้นวงเงินขั้นต่ำ หากภาระหนี้จำนวนมากแนะนำให้หยุดการชำระนี้ทันที เพื่อรอให้ศาลเป็นผู้พิจารณาซึ่งจะใช้เวลาอีก 4-5 เดือน เพื่อใช้เวลาในช่วงดังกล่าวเก็บเงินเป็นกองทุนเพื่อชำระหนี้บัตรเครดิตต่าง ๆ ภายหลัง โดยลูกหนี้ที่หยุดชำระหนี้ ระยะเวลาฟ้องร้องที่เจ้าหนี้จะต้องใช้สิทธิในการฟ้องร้อง คือหากเป็นหนี้บัตรเครดิต ระยะเวลา 2 ปี หนี้สินเชื่อบุคคล 5 ปี หนี้ระหว่างบุคคลทั่วไป 10 ปี ส่วนการยึดทรัพย์นั้น ทรัพย์สินที่เป็นของ เครื่องใช้ในครัวเรือนที่จำเป็นในการดำรงชีวิต มูลค่ารวมกัน 50,000 บาทแรกห้ามเจ้าหนี้ยึด เช่น โต๊ะรับประทานอาหาร เก้าอี้ โทรทัศน์ เครื่องครัว แต่หากเป็น สร้อย แหวน นาฬิกา สามารถยึดได้ ส่วนกรณีลูกหนี้มีเงินเดือนไม่ถึง 10,000 บาทต่อเดือน ห้ามเจ้าหนี้ทำการอายัด แต่ภาระหนี้ไม่ได้หมดไป เพียงแต่ชะลอไว้ก่อน หากลูกหนี้เป็นข้าราชการ หรือลูกจ้างประจำส่วนราชการ ห้ามเจ้าหนี้อายัดเงินเดือน” นายอิฐบูรณ์ กล่าว
นายอิฐบูรณ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการประนอมหนี้ทางโทรศัพท์กับบริษัทติดตามหนี้ให้ระมัดระวัง โดยเฉพาะการรวมเงินต้น ภาระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมเข้าด้วยกัน โดยบริษัทติดตามหนี้พยายามแนะว่า ภาระดอกเบี้ยจะต่ำกว่าเดิม แต่จะทำให้ภาระเงินต้นสูงกว่าเดิม 2-3 เท่าตัว และการทำสัญญาต้องทำกับบริษัทบัตรเครดิตเท่านั้น อย่าทำสัญญากับบริษัทติดตามหนี้ เมื่อมีการปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากมีหลายกรณีได้ผ่อนชำระเมื่อตกลงปรับโครงสร้างหนี้แล้ว แต่บริษัทบัตรเครดิตไม่รับทราบ ก็ยังต้องจ่ายเงินชำระหนี้เท่าเดิม