ที่มาพระยศพิเศษ สมเด็จพระเทพฯ พระองค์โสมฯ เฉลิมพระนามใหม่ ในรัชกาลที่ 10
"สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" ทรงได้รับการการสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ และเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น "สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี" (อ่านว่า สม-เด็ด-พระ-กะ-นิด-ถา-ทิ-ราด-เจ้า-กรม-สม-เด็ด-พระ-เทบ-พะ-รัด-ราด-สุ-ดา-เจ้า-ฟ้า-มะ-หา-จัก-กรี-สิ-ริน-ทอน-มะ-หา-วะ-ชิ-รา-ลง-กอน-วอ-ระ-ราด-ชะ-พัก-ดี-สิ-หริ-กิด-จะ-กา-ริ-นี-พี-ระ-ยะ-พัด-รัด-ถะ-สี-มา-คุ-นา-กอน-ปิ-ยะ-ชาด-สะ-หยาม-บอ-รม-มะ-ราด-ชะ-กุ-มา-รี)
ทั้งนี้ พระองค์โสมฯ ทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร เป็นอดีตพระวรชายาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และทรงเป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ของหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร กับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร จึงทรงเป็นทั้งเป็นพระภาติยะ (หลานที่เป็นลูกของพี่ชายหรือน้องชาย) และอดีตพระสุณิสา (ลูกสะใภ้) ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็น "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ"
ซึ่งนับเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระวรชายา ทรงมีพระธิดาพระองค์เดียวคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนธิราเทพยบดี ภายหลังการหย่าในปี พ.ศ. 2534 พระองค์ยังมีสถานะเป็นเจ้านายและได้รับการเฉลิมพระนามว่า "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ" โดยสร้อยพระนาม "พระวรราชาทินัดดามาตุ" เป็นพระยศพิเศษพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หมายถึง พระมารดาของพระราชนัดดาพระองค์แรกแห่งพระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐ