ย้อนที่มาคดีค่าโง่ ศาลสั่ง คมนาคม จ่าย 1.2 หมื่นล้าน โฮปเวลล์
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ ย้อนที่มาคดีค่าโง่ ศาลสั่ง คมนาคม จ่าย 1.2 หมื่นล้าน โฮปเวลล์
จากกรณีที่วันนี้ (22 เม.ย.62) ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้กระทรวงคมนาคม โดย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยวันนี้ศาลจะพิจารณาว่า กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย จะต้องชดใช้ เงินจำนวน 1,200 ล้านบาทหรือไม่นั้น
ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษา กลับ คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น โดยให้ จ่ายเงินคืนแก่บริษัทโฮปเวลล์รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมถึงค่าธรรมเนียมศาล ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ภายใน 180 วัน นับแต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา
ย้อนกลับไป โครงการโฮปเวล์ เริ่มต้นเมื่อปี 2533 สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มี มนตรี พงษ์พานิช นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้เปิดประมูลและอนุมัติก่อสร้างโครงการ มีชื่อเต็มว่า "โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพฯ" เป็นทางยกระดับ มีทั้งทางด่วน รถไฟชานเมือง รถไฟฟ้า ระยะทางรวม 60.1 กิโลเมตร โดยได้ผู้รับเหมายักษ์ใหญ่จากฮ่องกงคือ "บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย)" ของ "กอร์ดอน วู" มาก่อสร้าง ทำให้คนเรียกขานโครงการนี้ว่า "โฮปเวลล์" จนติดปาก
โฮปเวลล์ได้รับสัมปทานเดินรถและเก็บค่าผ่านทาง พร้อมสิทธิ์ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใต้ทางรถไฟยกระดับ และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สองข้างทางเนื้อที่กว่า 600 ไร่ ระยะยาว 30 ปี ตั้งแต่ 6 ธ.ค. 2534-5 ธ.ค. 2542 เสนอผลตอบแทนให้รัฐบาล 53,810 ล้านบาท
แต่โครงการในฝันก็ต้องมาสะดุดเมื่อเกิดรัฐประหาร มีการตรวจสอบจนถูกล้มโครงการสมัยรัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน ต่อมา รัฐบาลชวน 1 ได้ผลักดันต่อ โดยมี พันเอกวินัย สมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นเป็นหัวแรงใหญ่
ถึงปี 2540 สมัย รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จำต้องประกาศยกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์ หลังโครงการหยุดก่อสร้างเพราะวิกฤตเศรษฐกิจ มีผลงานแค่ 13.77% ตลอดเวลาที่ก่อสร้าง 7 ปี และมาบอกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2541 สมัย ชวน 2 ซึ่งมี สุเทพ เทือกสุบรรณ นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
จุดนี้เองทำให้เกิดค่าโง่ 1.2 หมื่นล้าน เมื่อต่อมา โฮปเวลล์ ฟ้องกลับเรียกค่าเสียหายหลังถูกเลิกสัญญา ด้วยวงเงินกว่า 56,000 ล้านบาท ที่นำมาลงทุนในโครงการนี้ ด้าน "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" คู่สัญญาก็ฟ้องกลับเรียกค่าเสียหายด้วยวงเงิน 200,000 ล้านบาท จนกลายเป็นคดีความยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน และในวันนี้ (22 เม.ย.62) ศาลปกครองสูงสุด ก็ตัดสินให้รัฐเสียค่าโง่โฮปเวลล์ 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมถึงค่าธรรมเนียมศาล ภายใน 180 วัน นับแต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา
" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น