นิติฯ สัตว์ป่า ตั้งคำถามผิดแค่มีไก่ฟ้าหลังเทา ซุปหางเสือดำ” หาย?
วันนี้ (20 มี.ค.2562) นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่าผลการพิพากษาคดีล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่ศาลจังหวัดทองผาภูมิ ตัดสินจำคุก 16 เดือนไม่รอลงอาญา นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพวกโดยจำคุก 16 เดือน และการยกฟ้องข้อหาร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) แสดงให้เห็นถึงความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวกับข้อง กับทส.ในการดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานอย่างเต็มที่เพื่อสู้คดีกับผู้กระทำความผิดต่อทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
เบื้องต้นพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีทส.กำชับให้เร่งให้ปรับปรุงและยกระดับการปกป้องคุ้มครองสัตว์ป่าในประเทศอย่างจริงจัง เช่น ความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีการหารือกับกลุ่มประเทศสมาชิกตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) เกี่ยวกับข้อกฎหมายระหว่างประเทศและข้อกฎหมายภายในประเทศ
จากนี้คงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเดินหน้าในกระบวนการขั้นต่อไป
ดร.กณิตา อุ่ยถาวร หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้โพสต์ข้อความ และภาพหลักฐาน ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kanita Ouitavon หลังจากเมื่อวานนี้ (19 มี.ค.) ศาลจังหวัดทองผาภูมิ ตัดสินคดีล่าสัตว์ป่าของนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพวกโดยจำคุก 16 เดือน และการยกฟ้องข้อหาร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ)
โดยระบุว่าทั้งๆ ที่บอกตัวเองว่าไม่มีอะไรต้องกังวล แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลับรู้สึกกังวลขึ้นมา มีอยู่จุดหนึ่งที่ทำให้รู้สึกเช่นนั้น ก็คือการยกฟ้องคุณเปรมชัย เรื่องการครอบครองซากเสือดำ แน่นอนว่าตัวเองนั้นต้องเคารพ และเชื่อมั่นคำตัดสินของศาลอยู่แล้วนะคะ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะมองกลับมาที่ตัวเองว่าทำอะไรบกพร่องไปรึเปล่า? จึงขอทบทวนสิ่งที่ทำไปตามที่สื่อก็ทราบกันดีอยู่แล้วดังนี้
ลำดับของเหตุการณ์เกิดอะไรขึ้นก่อนหลัง? แล้วผู้ที่เกี่ยวข้องเขามีพฤติกรรมอะไร? หรือมีเจตนาอย่างไรบ้าง?? ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องการหลักฐานเชื่อมโยงกันทั้งหมด ข้าพเจ้าคงตอบไม่ได้ในที่นี้ว่ามันเชื่อมโยงกันมากน้อยแค่ไหน
โดยตั้งคำถามว่า การเห็นรอยกระสุน เห็นมีดทำครัวและเขียง เห็นซุปในหม้อ เห็นกระดูกที่ทิ้งแล้วเห็นการหมกซาก ย่อมบอกได้ว่าพื้นที่ตรงนี้มีพฤติกรรมการล่า มีการฆ่าสัตว์ให้ตาย มีการชำแหละ มีการปรุงอาหาร มีการบริโภค มีการซุกซ่อน ฯลฯ เป็นต้น มีใครอยู่ตรงนั้นตอนนั้นบ้าง ก็เชื่อมโยงกันไป แล้วพฤติกรรมเหล่านี้มันอยู่ในนิยามความหมายของ การครอบครองซากสัตว์ป่าหรือไม่
"ความติดใจในเรื่อง การพบซุปหางเสือในหม้อ กับการพบ ซากไก่ฟ้าหลังเทาในกะละมัง แต่ได้ความผิดเรื่องการครอบครองไก่ฟ้าเพียงอย่างเดียว อาจเป็นอะไรที่ข้าพเจ้าไม่มีความเข้าใจมากนัก.. คงต้องไปศึกษาเพิ่มเติม หรือไปค้นคว้าหานิยามของคำว่า "การครอบครองซากสัตว์ป่า" ให้ดีขึ้นกว่านี้ก่อนนะคะว่ามันคืออะไร?"