เปิดพระประวัติ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ แคนดิเดตนายกฯ ของไทยรักษาชาติ
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และเป็นพระเชษฐภคินีพระองค์เดียวในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494 เวลา 23.28 น. ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้เสด็จนิวัตพระนคร แล้วประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และเมื่อถึงงานพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระอิสริยยศเมื่อประสูติ คือ "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี"
ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงเข้ารับการศึกษาขั้นต้นจนสำเร็จจากโรงเรียนจิตรลดา ครั้นทรงสำเร็จมัธยมศึกษา ได้เสด็จไปประทับ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อทรงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีจนสำเร็จ ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ชีวเคมี (Bachelor of Science Degree in Bio-Chemistry) จากนั้น ทรงเข้ารับการศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส ณ ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ (Statistics and Public Health) จนสำเร็จในการศึกษา
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ เพื่อทรงอภิเษกสมรสกับ ปีเตอร์ แลด เจนเซน ชาวอเมริกัน ในพระบรมหาราชวังตามราชประเพณี และเสด็จประทับอยู่สหรัฐอเมริกา ทั้งทรงเปลี่ยนพระนามเป็น จูลี เจนเซน ทั้งสองมีโอรส-ธิดา 3 คน ทั้งหมดเกิดในสหรัฐอเมริกา ได้แก่
- คุณพลอยไพลิน เจนเซน สมรสกับเดวิด วีลเลอร์ มีบุตรชาย 2 คน
- คุณพุ่ม เจนเซน นามเดิม ภูมิ เจนเซน เสียชีวิตจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิอันเกิดจากแผ่นดินไหวในปี พ.ศ. 2547
- คุณสิริกิติยา เจนเซน นามเดิม ใหม่ เจนเซน
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจด้านการช่วยเหลือราษฎรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยทรงตั้งมูลนิธิชีวิตสดใสเป็นองค์การสาธารณกุศล นอกจากนี้ ยังทรงตั้งมูลนิธิ Miracle of Life เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านการช่วยเหลือ ด้านการศาสนา โดยได้เสด็จหรือทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ไปดูความคืบหน้าของโครงการอยู่เป็นประจำ
พระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้าสมัยใหม่ มีช่องทางสื่อสารกับประชาชนโดยตรง ผ่านแอปพลิเคชัน โซเชี่ยลมีเดีย ชื่อว่า อินสตาแกรม โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า Nichax เพื่อโพสต์พระรูปส่วนพระองค์ในพระอิริยาบถต่างๆให้ประชาชนเข้าไปชื่นชม และพูดคุยจนเป็นที่ชื่นชมจากพสกนิกรว่า เป็นเจ้าฟ้าทันสมัย
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี มีพระดำริให้มีและทรงรับเป็นองค์ประธานโครงการ "TO BE NUMBER ONE" เพื่อรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาทั่วประเทศ และหน่วยงาน องค์กร ชุมชนต่าง ๆ ตามพระปณิธาน "ทุกคนเป็นหนึ่งได้โดยไม่พึ่งยาเสพติด" มุ่งหมายให้เยาชนใช้เวลาว่างมาร่วมกิจกรรมอันเปิดโอกาสให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก นอกจากนี้ ยังมี "ศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่น" ซึ่งให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาต่าง ๆ ของเยาวชน เช่น ปัญหาครอบครัว และปัญหายาเสพติด มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่มากถึง 31 ล้านคน หรือครึ่งประเทศ
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงเห็นว่า เด็กออทิสติกไม่ได้เรียนหนังสือ จนทำให้เป็นคนไม่ปกติ จึงทรงตั้งมูลนิธิคุณพุ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2548 ภายหลังจากที่ คุณพุ่ม เจนเซ่น พระโอรสซึ่งเป็นโรคออทิสติกด้วยนั้น ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2548 บางปียังพระราชทานเงินส่วนพระองค์ให้แก่เด็กออทิสติกนำไปใช้จ่ายเป็นทุนการศึกษาและเพื่อให้เด็กออทิสติกได้พัฒนาตนเอง
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี มีพระปรีชาในกีฬาเรือใบ และเคยทรงลงแข่งกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อแปรพระราชฐานยังพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ ทรงเคยเข้าร่วมการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในฐานะนักกีฬาทีมชาติ ที่งานกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 และทรงทำคะแนนรวมได้เป็นที่ 1 เสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงร่วมการแข่งขันเช่นกัน จึงได้รับพระราชทานเหรียญทองจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์แรกซึ่งทรงเป็นดาราและทรงเล่นละครด้วยพระองค์เอง
เมื่อปี พ.ศ. 2546 ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้ทรงละครสองเรื่องแรก คือ กษัตริยา และ มหาราชกู้แผ่นดิน ตามคำกราบทูลเชิญของบริษัทกันตนา ละครทั้งสองออกอากาศสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 19:30 น.
ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 พระองค์ได้ทรงร่วมแสดงในละครโทรทัศน์ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 คู่ขนานกับ ช่อง 3 HD ช่อง 33 เรื่อง ดาวหลงฟ้า ภูผาสีเงิน ทรงรับบทเป็น "อัมราภาชินี"
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้เสด็จมาทรงถ่ายรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับพระองค์เป็นประจำ ตามคำกราบทูลเชิญคณะบุคคลต่าง ๆ เพื่อออกเผยแพร่ทางโทรทัศน์ โดยเฉพาะรายการที่พระองค์ทรงออกรายการทางโทรทัศน์อยู่เป็นประจำเป็นรายการที่มีความรู้และสาระต่าง ๆ ที่ประชาชนได้รับชมอยู่จนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 2 รายการ มีดังนี้
- พรินเซสไดอารี (Princess Diary) เมื่อ พ.ศ. 2551 เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของต่างประเทศ ปัจจุบัน เปลี่ยนรูปแบบใหม่เป็นการสัมภาษณ์ดารารับเชิญในห้องส่ง โดยเล่าประวัติและผลงานของดารารับเชิญ ออกอากาศทุกวันศุกร์ เวลา 23:05-24:00 น. ทาง โมเดิร์นไนน์ ทีวี
เมื่อ พ.ศ. 2551 ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้ทรงถ่ายภาพยนตร์เรื่อง หนึ่งใจเดียวกัน เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในพระองค์ จากบทพระนิพนธ์ เรื่องสั้นที่...ฉันคิด ทำรายได้ 50 ล้านบาทต่อมา ยังทรงแสดงในภาพยนตร์เรื่อง มายเบสต์บอดีการ์ด และ พระนางจามเทวี ภาพยนตร์ทั้งสามได้เข้าฉายในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ โดยเสด็จมาทรงร่วมในพิธีเมื่อ พ.ศ. 2551, 2552 และ 2553
ใน พ.ศ. 2555 ทรงร่วมแสดงภาพยนตร์อีกสองเรื่อง คือ เรื่อง ว่ายน้ำข้ามทะเลดาว ร่วมกับ โทนี่ รากแก่น เทิดพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในวันพระราชสมภพ 5 ธันวาคม 2555 เข้าฉายในวันที่ 1 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2555 และเรื่อง ทูเก็ตเตอร์ วันที่รัก ร่วมกับ สหรัถ สังคปรีชา และ ปิยธิดา มิตรธีรโรจน์ เข้าฉายวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงมีผลงานเพลงหลายผลงานในสังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เช่น เพลงประจำโครงการทูบีนัมเบอร์วัน เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง หนึ่งใจ...เดียวกัน
เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง มาย เบส บอดี้การ์ด เพลง "ทางของฉัน" และเพลง "ผู้ชายคนนั้น" นอกจากนี้ ยังทรงได้รับเชิญเข้าร่วมร้องเพลง "ขวานไทยใจหนึ่งเดียว" เมื่อปี 2547 ด้วย