เตรียมเสนอ สธ.ต่อราคายามะเร็ง 4 ชนิด เล็งประกาศซีแอล

เตรียมเสนอ สธ.ต่อราคายามะเร็ง 4 ชนิด เล็งประกาศซีแอล

นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นและมีปัญหาในการเข้าถึงของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กล่าววานนี้ (23 ก.ย.) ว่า คณะอนุกรรมการคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ จะเสนอกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้พิจารณาแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยามะเร็งจำนวน 4 รายการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขน่าจะนำไปพิจารณาต่อรองราคากับบริษัทยา และหากมิได้รับความร่วมมือจากบริษัทยา กระทรวงสาธารณสุขก็อาจประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา หรือการประกาศซีแอลยานั้นก็ได้
 
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ยาสำหรับโรคมะเร็งที่คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็น แต่มีราคาแพงมาก ประชาชนเข้าถึงยาก มี 4 รายการ ได้แก่ อิมาทินิบ (Imatinib) ใช้รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งทางเดินอาหาร ยาโดซีแท็คเซล (Docetaxel) ใช้รักษามะเร็งปอดและมะเร็งเต้านม ยาเออร์โลทินิบ (Erlotinib) ใช้รักษามะเร็งปอด และ เล็ทโทรโซล (Letrozole) ใช้รักษามะเร็งเต้านม  หลังจากคณะอนุกรรมการฯ เสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขแล้ว คณะกรรมการต่อรองราคาฯ ที่มีเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเป็นประธาน จะทำหน้าที่ต่อรองกับบริษัทที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว หรือเจรจาเพื่อขอความร่วมมือกับบริษัทในการทำ Voluntary Licensing หรือการให้ใช้สิทธิโดยสมัครใจ เป็นรูปแบบความร่วมมือที่บริษัทยาเรียกร้องมาโดยตลอด ถ้ากระทรวงสาธารณสุขไม่มีทางออก จะให้คณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรที่มี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน พิจารณาว่าจะใช้มาตรการใดแก้ปัญหาการเข้าถึงยา หากไม่ได้ผล การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาจะเป็นมาตรการสุดท้ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
 
“เช่นกรณียาเล็ทโทรโซล เมื่อเทียบกับยาต้นตำรับแล้ว จะถูกกว่ายาต้นตำรับเกือบ 40 เท่า จากราคาของบริษัท 230 บาท ขณะที่ราคายาชื่อสามัญนั้นเพียง 6 บาท เชื่อว่าวิธีดำเนินการครั้งนี้ จะช่วยลดคำครหาว่าไม่มีความโปร่งใส หรือหากบริษัทยาให้ความร่วมมือก็จะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ในการประชุมครั้งต่อไป จะหารือถึงการเพิ่มการเข้าถึงยาอื่น ๆ รวมถึงยากำพร้า (Orphan drugs) ที่ไม่มีผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ามา แต่มีความจำเป็นต่อคนไข้ที่ต้องใช้ด้วย” นพ.สงวน กล่าว
 
เลขาธิการ สปสช. กล่าวด้วยว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในโครงการฯ ได้เข้ามาสู่โครงการเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2548 แบ่งเป็นผู้ป่วยนอกที่ป่วยเป็นมะเร็งจำนวน 20,481 คน เข้ารักษาในหน่วยสถานพยาบาลจำนวน 101,148 ครั้ง มีค่าใช้จ่ายจำนวน 263 ล้านบาท และผู้ป่วยใน มีจำนวน 20,104 คน เข้ารักษาในหน่วยสถานพยาบาลจำนวน 57,181 ครั้ง มีค่าใช้จ่ายจำนวน 690 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2549 มีจำนวนผู้ป่วยนอก 23,508 คน เข้ารักษาในสถานพยาบาลจำนวน 143,287 ครั้ง เป็นเงิน 255 ล้านบาท ผู้ป่วยในจำนวน 21,509 คน เข้ารักษาในสถานพยาบาลจำนวน 63,703 ครั้ง มีค่าใช้จ่าย 1,022 ล้าน

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์