เช่น การใส่ดีเอ็นเอของมนุษย์เข้าไปในไข่ของวัวเพื่อสร้างตัวอ่อนพันธุ์ผสมขึ้น ซึ่งสเต็มเซลล์ที่ได้จากตัวอ่อนอาจนำไปใช้เพื่อการรักษาโรคทางพันธุกรรมและโรคที่รักษายาก อย่างเช่น โรคเบาหวานและโรคอัลไซเมอร์ได้
ทั้งนี้ นายฮวางถูกตั้งข้อหาเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วว่า หลอกลวง ฉ้อโกง ละเมิดจริยธรรม และข้อหาอื่นๆ อีกหลายข้อหา
โดยรัฐบาลเกาหลีใต้มีคำสั่งห้ามนายฮวางวิจัยโดยใช้ไข่ของมนุษย์ หลังพบว่าการสร้างสเต็มเซลล์ของมนุษย์ผ่านการโคลนนิ่งได้สำเร็จเป็นครั้งแรกและได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์เมื่อปี 2547 เป็นเรื่องที่นายฮวางปั้นแต่งขึ้นทั้งหมด ซึ่งภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลลงมติว่า การวิจัยเป็นเรื่องลวงโลก รัฐบาลได้ถอดตำแหน่งเกียรติยศทั้งหมดของนายฮวาง รวมทั้งตำแหน่ง "สุดยอดนักวิทยาศาสตร์" ตลอดจนยกเลิกเงินทุนสนับสนุนการวิจัยทุกชนิด ก่อนจะมีข่าวว่า นายฮวางและคณะวิจัยได้กลับมาทำงานวิจัยแบบเงียบๆ และเปิดห้องแล็บแห่งใหม่นอกกรุงโซลเมื่อปลายปีที่แล้ว
ในระหว่างนั้น นายฮวางที่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนได้ยืนกรานในชั้นศาลว่า สามารถพิสูจน์ได้ว่าตัวเองสามารถสร้างสเต็มเซลล์มนุษย์ขึ้นจากการโคลนนิ่งได้จริงๆ
นายฮวางยังอ้างด้วยว่า เป็นผู้ปูทางการรักษาโรคที่รักษาได้ยากด้วยสเต็มเซลล์ที่สร้างจากการโคลนนิ่ง ซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายของคนไข้แล้วจะไม่เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน อย่างไรก็ดี นักวิจัยคนอื่นๆ ไม่สามารถสร้างสเต็มเซลล์จากการโคลนนิ่งได้ตามวิธีของนายฮวาง ซึ่งการทดลองซ้ำได้นั้นถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับทฤษฎีวิทยาศาสตร์ จนทำให้หลายฝ่ายเกิดข้อสงสัยว่าข้อมูลและรูปถ่ายที่นายฮวางนำมาเปิดเผยนั้นเป็นเรื่องหลอกลวง
อย่างไรก็ดี แม้จะถูกตั้งข้อหาต่างๆ แต่นายฮวางยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มผู้สนับสนุนอย่างแข็งขัน โดยนายปักยังยืนยันด้วยว่า คณะวิจัยของนายฮวางนั้นมีเทคโนโลยีการโคลนนิ่งที่ยากจะหาใครเทียบได้ และเกาหลีใต้ก็ไม่ควรปล่อยให้เทคโนโลยีนี้สูญเปล่า
สภาวิจัยไทยไม่ทราบเรื่องนายหวาง
ศ.ดร.อานนท์ บุญรัตเวช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ยืนยันภายหลังจากที่มีกระแสข่าวว่า นายฮวาง วู ซุก นักวิจัยด้านสเต็มเซลล์จากมหาวิทยาลัยโซล เกาหลีใต้ พร้อมทีมงานที่มีคดีความจงใจหลอกลวงสร้างรายงานผลการวิจัยจากการนำไข่ของผู้ช่วยวิจัยมาสร้างตัวอ่อนมนุษย์โคลนนิ่ง ได้เดินทางมายังประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน เพื่อร่วมทำวิจัยกับสถาบันวิจัยในประเทศไทยว่า ทาง วช.ไม่ทราบเรื่องว่านายฮวางจะเดินทางมาทำวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยในประเทศไทย
"หากสถาบันวิจัยในประเทศ โดยเฉพาะสถาบันวิจัยภาครัฐ ที่เชิญนักวิจัยต่างชาติเข้ามาร่วมทำงานวิจัยในประเทศไทย ตามระเบียบทางราชการแล้ว จะต้องเสนอเรื่องผ่านมาทาง วช.เพื่อทราบก่อน แต่ปัจจุบันยังไม่มีสถาบันใดส่งเรื่องมา" เลขาฯ วช. กล่าว
ทีเซลส์ห่วงชื่อเสียงนักวิจัยไทย
พญ.กิติมา ยุทธวงศ์ กล่าวว่านายฮวางเป็นนักวิจัยที่มีชื่อเสียงในด้านลบ
พญ.กิติมา ยุทธวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (ที-เซลส์) หน่วยงานสนับสนุนการวิจัยที่ผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านธุรกิจสเต็มเซลล์ในประเทศไทย รวมทั้งจัดตั้งธนาคารเก็บเลือดสายสะดือแห่งชาติ เป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัย รวมทั้งให้บริการรักษาโรคในอนาคต กล่าวว่า ไม่ทราบในเรื่องนี้เช่นกัน แต่ในความเห็นส่วนตัวมองว่า นายฮวางเป็นนักวิจัยที่มีชื่อเสียงในด้านลบ ผู้ที่ทำวิจัยร่วมด้วยไม่น่าดีใจ และยิ่งทำให้ตัวนักวิจัยเองดูแย่ไปด้วย ดังนั้น หากจะทำงานวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ก็ควรเลือกทำวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงและมีประวัติการทำงานที่ดีมากกว่า