แนวโน้มครัวเรือนมีรายจ่ายด้านการลดน้ำหนักมาก
นายกิติศักดิ์ สินธุวนิช รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ถึงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2550 ว่า โรคอ้วนในประเทศ ไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนแนวโน้มครัวเรือนมีรายจ่ายด้านการลดน้ำหนักมาก โดยเชื่อว่าปี 2550 มีมูลค่า 1,800-2,000 ล้านบาท และปรับเพิ่มอีก 20% ในปี 2551 ทั้งการเล่นฟิตเนส ซื้ออาหารหรือยาลดน้ำหนัก ใช้บริการโรงพยาบาล เนื่องจากภาคธุรกิจเน้นโฆษณาจูงใจให้ลดน้ำหนักในลักษณะที่เห็นผลรวดเร็ว จนหลายรายต้องเสียเงินโดยไม่จำเป็น หรือเห็นผลได้ระยะหนึ่งแล้วกลับมาอ้วนเหมือนเดิม จึงอยากให้ภาครัฐเร่งโฆษณาให้ความรู้แก่ประชาชนให้เห็นความสำคัญของการออกกำลังกายถึงเปลี่ยนแปลงการบริโภคอาหาร ซึ่งจะลดภาระค่าใช้จ่ายได้มาก
จากผลสำรวจพบว่าประชาชนที่มีปัญหาโรคอ้วนต้องเสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการลดความอ้วนเฉลี่ยคนละ 900-2,600 บาทต่อเดือน
โดยใช้บริการโรงพยาบาล หรือสถานลดน้ำหนักมากสุด เฉลี่ย 2,555 บาท รองลงมาซื้ออาหารหรือยาลดน้ำหนักมากินเอง 1,200 บาท ซื้อเครื่อง ออกกำลังกาย 1,077 บาท ออกกำลังกายตามสถานที่เก็บค่าบริการ 896 บาท แต่ที่ สศช.เป็นห่วงมากสุดคือการลดน้ำหนักตามโรงพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายแพง แต่กลับได้ผลเพียง 29.4% ส่วนที่เหลือไม่คุ้มกับรายจ่าย เพราะน้ำหนักลดเพียงเล็กน้อย น้ำหนักเพิ่มหลังหยุดการรักษา และผลการใช้ยาทำให้เกิดอาการง่วงซึม และเฉื่อยชา