เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ในสมัยก่อนนิตยสารท่องเที่ยวฉบับหนึ่งเคยเขียนเอาไว้ว่า ฉลามวาฬคือ ยักษ์ใหญ่ใจดี แต่ความจริงแล้ว ไม่เคยมีใครรับรองว่า ฉลามวาฬเป็นสัตว์ใจดีจริงหรือไม่ แต่ตนรู้ว่าฉลามก็คือฉลามอยู่วันยังค่ำ และไม่มีปลาตัวไหนในโลกที่ใจดี อย่าไปดราม่า และอย่าคิดไปเอง
"ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า ปลามันใจดีหรือใจร้าย แต่ประเด็นคือ เราไม่ควรว่ายน้ำเข้าไปใกล้ฉลามวาฬ ตอนผมดำน้ำขนาดไม่ได้เข้าใกล้ แต่ด้วยความที่ตัวมันใหญ่ยังโดนหางฟาดที่หัวเอาเลย ทั้งนี้ในต่างประเทศที่มีสัตว์ชนิดนี้อยู่ และมีกิจกรรมการว่ายน้ำ ดำน้ำคู่กับฉลามวาฬ เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ เขาจะกำหนดกติกาไว้อย่างชัดเจน คือ ห้ามอยู่บริเวณปากฉลามวาฬ ห้ามแตะต้องตัวฉลามวาฬ ห้ามให้ให้อาหารจากเรือนักท่องเที่ยว ห้ามทิ้งขยะลงในน้ำ เพราะปลาอาจกลืนได้ ต้องอยู่ห่าง 5-6 เมตรจากตัวฉลามวาฬ เพื่อความปลอดภัย ห้ามนำเรือไล่ฉลามวาฬ ต้องจอดเรือหรือลอยลำทันทีที่ห่างจากฉลามวาฬ 20-30 เมตร ไม่ควรทาครีมกันแดดหรือโลชั่นใดๆ เพื่อป้องกันสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายกับฉลามวาฬ แต่ก็ดูเหมือนว่า คนไทยบางกลุ่ม พยายามที่จะทำผิดกติกาที่กล่าวมาทั้งหมดเลย"ผศ.ธรณ์ กล่าว
ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ตนในฐานะ ประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก ภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะนำเสนอเรื่องนี้กับ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งจะมีการประชุมกันในวันที่ 27 เม.ย.นี้ เพื่อให้อธิบดีทช.ลงนาม ประกาศอย่างเป็นทางการสำหรับกฏกติกาเรื่องนี้ ทั้งนี้เพราะฉลามวาฬเป็นสัตว์คุ้มครอง และกำลังจะถูกประกาศเป็นสัตว์สงวนเร็วๆนี้
"หากไม่มีการออกกฏ กติกาออกมา จะต้องมีปัญหาในอนาคต อย่างน้อยๆหากมีการรุกรานไปว่ายน้ำใกล้ๆ พยายามเกาะแกะ เข้าไปถึงเนื้อ ถึงตัวอย่างนี้ วันข้างหน้ามันจะไม่กลับมาว่ายน้ำที่เดิมอีก"ประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก กล่าว
ด้านนายจตุพร กล่าวว่า เห็นรูปที่นักท่องเที่ยวลงไปในน้ำและพยายามจับต้องตัวฉลามวาฬแล้ว ไม่สบายใจอย่างยิ่ง มีเหตุการเช่นนี้บ่อย ตอนนี้ได้กำชับในพื้นที่ จ.ชุมพรแล้ว ให้กวดขันกับนักท่องเที่ยวเรื่องการพยายามเข้าไปจับตัวฉลามวาฬให้มากกว่านี้ สำหรับกติกาเรื่องการว่ายน้ำคู่กับฉลามวาฬนั้นเห็นด้วยว่าควรจะมี แต่เรื่องรายละเอียดจะต้องหารือกับกรรมการอีกที