อย่างกรณีของน้องเอ้ เด็กสาววัย 15 ปี นักเรียนโรงเรียนพาณิชย์ชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเนื่องจากกระดูกกรามหักทั้งสองข้าง ในโรงพยาบาลราชวิถี หลังจากเกิดอุบัติเหตุ รถจักรยานยนต์ชนท้ายรถปิกอัพ เมื่อคืนวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา โดยเหตุเกิดบริเวณปากซอยรามคำแหง 168
ทีมข่าว"คม ชัด ลึก" มีโอกาสพูดคุยกับ นางเหรียญดอน เสนาฤทธิ์ อายุ 37 ปี มารดาของเด็กสาว ขณะนั่งรอบุตรสาว อยู่ที่หน้าห้องผ่าตัดของโรงพยาบาล
โดยนางเหรียญดอน บอกว่า ไม่เคยคิดมาก่อนว่าบุตรสาวจะประสบอุบัติเหตุอย่างรุนแรงเช่นนี้ นางเหรียญดอนเล่าว่า ไม่มีโอกาสได้ดูแลบุตรสาวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้องไปทำงานอยู่ที่โรงงานเซรามิกแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม เช่นเดียวกับสามีที่ต้องทำงานเหมือนกัน ปล่อยให้บุตรสาวพักอาศัยอยู่กับบุตรชายตามประสาพี่น้องที่หอพักย่านรามคำแหง จะมีโอกาสพูดคุยกันก็ทางโทรศัพท์เท่านั้น
"ทุกครั้งที่โทรศัพท์หาลูก เขาก็บอกว่าอยู่ภายในห้องพักกำลังอ่านหนังสือ ไม่เคยคิดมาก่อนว่าบุตรสาวจะไปนั่งรถจักรยานยนต์เที่ยวกับเพื่อนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุขึ้น ในวันนั้นน้องเอ้บอกว่าจะออกไปซื้อของที่ปากซอยรามคำแหง 168 โดยน้องเอ้นั่งอยู่หน้าสุด โดยมีเพื่อนผู้ชายเป็นคนขับ ขณะที่หลังสุดเป็นเพื่อนซึ่งเป็นสาวประเภทสองอีกคนซ้อนท้าย เมื่อถึงปากซอยมีรถปิกอัพจอดขวางอยู่ เพื่อนชายของน้องเอ้ไม่เห็นจึงชนท้ายอย่างแรง เป็นเหตุให้น้องเอ้บาดเจ็บสาหัส" นางเหรียญดอน กล่าวทั้งน้ำตา
บาดแผลบนใบหน้าของน้องเอ้ยังไม่แน่ชัดว่าจะหายดีหรือไม่
ซึ่งนางเหรียญดอน ผู้เป็นแม่ เป็นห่วงบุตรสาวเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเธอบอกว่าทันทีที่บุตรสาวได้รับอนุญาตจากแพทย์ให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ เธอจะนำบุตรสาวไปอยู่ด้วยที่ จ.นครปฐม และจะดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะกลัวว่าบุตรสาวจะไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ซิ่ง หรือที่ภาษาวัยรุ่นเรียกกันว่า เด็กสก๊อย อีก เนื่องจากเธอคงรับไม่ได้หากบุตรสาวต้องประสบอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ซ้ำสอง
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับแมนและน้องเอ้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของเด็กวัยรุ่นไทยที่ต้องสูญเสียจากอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์
ซึ่งจากการจัดทำสถิติของศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในแต่ละปีมีเด็กและเยาวชนต้องเสียชีวิตไปจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์กว่า 2.5 หมื่นคน โดยนพ.อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์นเรนทร เปิดเผยว่า เมื่อเทียบอัตราส่วนกรณีการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในแต่ละปี พบว่าร้อยละ 25 ของการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด เกิดขึ้นในหมู่นักเรียนและนักศึกษา ซึ่งอุบัติเหตุดังกล่าวทำให้เด็กวัยรุ่นเหล่านี้ได้รับบาดเจ็บปีละกว่า 1 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 13,000 - 25,000 คนเฉลี่ยนาทีละ 1.5-2.9 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตรวมอยู่ด้วยประมาณ 2,000 คนต่อปี บาดเจ็บสาหัส 20,000 รายต่อปี และ พิการ 9,000 รายต่อปี ซึ่งเด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่เองและไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์