กรมศุลกากร ชี้แจงว่า ประกาศดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นแนวปฏิบัติที่กรมฯ ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่เหตุที่ต้องออกประกาศใหม่ เนื่องจาก พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 เพื่อให้การดำเนินการยังมีผลในทางปฏิบัติจึงต้องออกประกาศกรมฯ ฉบับนี้
ทั้งนี้เนื้อหาของประกาศฉบับนี้ มิได้กำหนดให้ผู้โดยสารทุกคนจะต้องนำสิ่งของไปแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ แต่วัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้โดยสารที่มีสิ่งของที่ต้องนำไปต่างประเทศ แล้วเกรงว่าหากนำของดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศจะถูกเจ้าหน้าที่ตรวจพบและตั้งข้อสงสัยว่าเป็นของที่เพิ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศและต้องเสียภาษี และอาจทำให้ผู้โดยสารเสียเวลาหรือมีความยุ่งยากในการหาหลักฐานประกอบคำชี้แจง โดยการฏิบัติดังกล่าวไม่ได้เป็นการบังคับ และไม่มีบทลงโทษ
ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่จะไม่เพ่งเล็งผู้โดยสารทุกคนแต่อย่างใด โดยจะเน้นไปที่หลักบริการความเสี่ยง และพบว่าผู้โดยสารประเภทไหนมความเสี่ยง หรือผู้โดยสารไหนอยู่ในกลุ่มที่อาจมีพฤติกรรมนำเข้าสินค้าสิ่งของเพื่อการค้าขาย
ส่วนกรณีที่ผู้โดยสารซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดภาษีอากรขาออกและนำของนั้นกลับเข้าประเทศว่า หากนำของนั้นเข้ามาและของมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 20,000 บาท (เว้นแต่สุรา บุรี่ ซิการ์ และยาเส้น ซึ่งจะต้องเป็นไปตามปริมาณที่กำหนด) จะได้รับการยกเว้นค่าภาษีอากร แต่หากของนั้นมีมูลค่าเกิน 20,000 บาท หรือนำเข้าสุรา บุรี่ ซิการ์ และยาเส้น ซึ่งจะต้องเป็นไปตามปริมาณที่กำหนด หรือนำเข้ามาเพื่อการค้าแม้จะราคาไม่ถึง 20,000 บาทก็ต้องเสียภาษีอากร
ทั้งนี้ โฆษกศุลกากร ยอมรับว่า ถ้อยคำในประกาศอาจทำให้ประชาชนสับสนและเข้าใจผิด และจะไปพิจารณาแก้ไขโดยเร็วที่สุด