นายรณณรงค์ กล่าวว่า ผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นผู้รับสินค้าโดยตรงจากบริษัทไปขายต่อให้กับลูกค้ารายย่อย ซึ่งทางบริษัทอ้างว่าสินค้าทุกตัวมีเลขอย.สามารถจำหน่ายได้ ต่อมาภายหลังมีผู้พบว่าเลขอย.ไม่ตรงกับเลขสินค้า ทำให้มีการตรวจสอบขยายผล พบว่าสินค้าส่วนใหญ่ถูกสวม อย. และมีการใช้เลขอย.ผิดประเภท รวมถึงการอ้างสถานที่ตั้งผลิตโรงงานที่ไม่มีอยู่จริง นอกจากนี้ ตนยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสารประกอบว่าจะมีการใช้สารต้องห้ามทางอย.รวมอยู่ด้วย หลังจากนี้จะให้อย.ตรวจสอบว่าเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆนั้นถูกต้องหรือไม่
"ส่วนในวันนี้จะแจ้งความในข้อหาฉ้อโกงประชาชนกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ และตัวแทนจำหน่าย โดยเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ทางบริษัทมีการเจรจาค่าเสียหายแต่ไม่สามารถตกลงได้ พร้อมปัดตอบคำถามเรื่องสินค้าผ่านอย.หรือไม่ บอกเพียงว่าสามารถขายได้ และไม่มีกำหนดในการคืนเงินกับผู้เสียหาย" นายรณณรงค์ กล่าว
ด้าน น.ส.เกศกนก สนิทนาม 27 ปี หนึ่งในผู้เสียหาย ระบุว่า ตนได้รับความเสียหายกว่า 6 ล้านบาท ก่อนหน้านี้มีลูกค้าทักท้วงว่ามีการจดเลขทะเบียนถูกต้องหรือไม่ เมื่อตรวจสอบก็พบว่าเลขทะเบียนไม่ตรงกัน เนื่องจากกลัวลูกค้าจะเสียหายจึงยุติการผลิต จำหน่าย และได้ทวงถามไปยังผู้ผลิต แต่ทางผู้ผลิตอ้างให้เซ็นสัญญาที่ไม่เปิดเผยรายละเอียดเพื่อรับเงินคืน แต่เนื่องจากตนไม่ไว้วางใจจึงไม่ดำเนินการเซ็น จากนั้น จึงได้รวมตัวกับผู้เสียหายมาแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของบริษัทวันนี้
ขณะที่หนึ่งในผู้บริหารผลิตภัณฑ์ที่ถูกกล่าวหา เปิดเผยว่า ขอยืนยันว่าสินค้าของบริษัทถูกต้องตามมาตราฐานอย. แต่เนื่องจากความผิดพลาดของบรรจุภัณฑ์จึงทำให้เกิดความสงสัยกับผู้บริโภค นอกจากนี้ ทางบริษัทยังถูกเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่งเขียนโจมตีทำลายให้เกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทได้ตรวจสอบเพจดังกล่าวแล้วพบว่าผู้ก่อตั้งเพจเคยเป็นคู่ค้ารายใหญ่กับทางบริษัทที่ขัดแย้งกันส่วนตัว จึงไปก่อตั้งเพจดังกล่าวมาโจมตี โดยขณะนี้ทางบริษัทได้แจ้งความไว้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีแล้ว ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี
ทั้งนี้ เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำผู้เสียหาย พร้อมตรวจสอบหลักฐานต่างๆ เพื่อส่งให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาต่อไป