ดร.โสภณ เผยว่า สำหรับปัญหาคนเร่ร่อนนั้นแตกต่างจากขอทาน ซึ่งขอทานเป็นอาชีพหนึ่งที่ใช้ความน่ารักน่าสงสารมาทำให้มีผู้ให้เงิน เข้าทำนองการหลอกลวงประชาชน ขอทานจะมีรายได้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำเสียอีก ค่าเฉลี่ยของรายได้ของขอทานรายหนึ่งเป็นเงินประมาณ 2,000 - 5,000 บาทต่อวัน รายได้ต่ำสุดที่ได้คือ 500 บาท ขอทานที่มีรายได้สูง จะทำตัวให้สกปรกที่สุด น่าสงสารเวทนาหากแสร้งทำแขนหรือขาด้วยด้วยแล้ว ยิ่งมีรายได้สูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงพบขอทานเกลื่อนเมืองโดยเฉพาะในเขตใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ ขณะที่คนเร่ร่อนเกิดขึ้นจากปัญหาที่รุมเร้าต่าง ๆ ซึ่งต้องพึงเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา และหาทางให้พวกเขากลับเข้าสู่สังคมโดยเร็ว
สำหรับการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อน ดร.โสภณ มองว่า ทำได้ยาก เพราะที่ผ่านมากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับงบประมาณเพียงประมาณ 10,000 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมดราว 2.7 ล้านล้านบาท หรือราว 0.37% เท่านั้น ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อาจมีคนเร่ร่อนไม่มากนัก สมมติ ณ ระดับที่ 4,000 คน ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขอาจเป็นเงินคนละ 500 บาทต่อวัน หรือเป็นเงินปีละ 730 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเงินเพียง 1% ของงบประมาณแผ่นดินของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นถ้ากรุงเทพมหานคร "เจียด" เงินมาดูแลสังคมมากกว่านี้ ปัญหาคนเร่ร่อนก็จะหมดไปได้อย่างง่ายดาย