ดังนั้นในวันที่ 2 มี.ค. นี้ ตนจะหารือกับเจ้าหน้าที่ เพื่อรวบรวมข้อมูลว่าความผิดที่นายปรีชาถูกกล่าวหาว่าอยู่ในข่ายการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพครูหรือไม่ ถ้าอยู่ในข่ายประพฤติผิดจรรยาบรรณ ตามพ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ตนก็จะใช้อำนาจเลขาธิการคุรุสภาตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง
"คุรุสภาไม่ดำเนินการตามกระแส จะยึดหลักกฎหมายของคุรุสภา ซึ่งตามขั้นตอนปกติ ถ้าครูหรือบุคลากรทางการศึกษาได้รับการกล่าวหา กล่าวโทษ ว่า ทำผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ เลขาธิการคุรุสภาจะต้องรายงานต่อคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) แต่ขณะนี้ไม่มีกมว. จึงเป็นอำนาจของเลขาธิการคุรุสภาในการตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง และรายงานต่อคณะกรรมการคุรุสภา ซึ่งถ้าทำผิดจรรยาบรรณจริง ก็มีโทษตั้งแต่การตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ และเพิกถอนใบอนุญาต แต่ในกรณีที่ถูกกล่าวหาอย่างนี้ ถ้าคดียังไม่สิ้นสุดเราก็ต้องให้ความเป็นธรรม
ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าคดีไม่ได้สิ้นสุดที่ตำรวจ คดีสิ้นสุดที่ศาลตัดสิน และต้องแยกแยะระหว่างจรรยาบรรณกับเรื่องวินัยและคดีอาญาไม่เกี่ยวกัน แต่อาจเชื่อมความผิดตรงกันได้ ซึ่งกรณีนี้กรรมการสืบข้อเท็จจริงอาจจะสืบข้อมูลร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหากหน่วยงานต้นสังกัดของครูปรีชา ตั้งกรรมการสอบวินัย คุรุสภาก็จะไปทำงานคู่กัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกัน" รองเลขาธิการสกศ. กล่าว