ความเคลื่อนไหวในเมืองไทย หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรานั้น
นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา เมื่อเย็นวันพุธ จนทำให้ผู้ที่อยู่บนอาคารสูงในเขต กทม.รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้นั้น ได้รับการยืนยันว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาด 8.4 ริกเตอร์ และหลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่แล้วมีอาฟเตอร์ช็อกตามมา 11 ครั้ง ระดับความแรงตั้งแต่ 5.2- 6 ริกเตอร์ จนกระทั่งเมื่อเวลา 06.49 น. วันที่ 13 ก.ย. ได้เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 7.8 ริกเตอร์ และเวลา 08.26 น. ขนาด 5.8 ริกเตอร์ โดยจุดเกิดเหตุห่างจากภูเก็ตประมาณ 1,400 กม. และห่างจาก กทม.ราว 2,000 กม. อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นผลจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย-ออสเตรเลีย มุดตัวลงใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ด้วยอัตราการเคลื่อนตัว 54 มม.ต่อปี ทำให้รอยเลื่อนเคลื่อนตัวแบบย้อนกลับ และเป็นรอยเลื่อนเดียวกับที่เคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งประวัติศาสตร์ ขนาด 9.0 ริกเตอร์ จนทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อ 27 ธ.ค. 2547
อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีกล่าวอีกว่า หลังเกิดเหตุศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติของไทยไม่ได้ออกประกาศเตือนภัยสึนามิทันทีนั้น
เนื่องจากทุ่นเตือนภัยสึนามิที่ติดตั้งใต้ทะเลที่ระดับความลึก 3.5 กม. ของมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากชายฝั่งภูเก็ต 1,200 กม. เมื่อเกิดแผ่นดินไหวทุ่นจะรับแรงสั่นสะเทือนด้วยความเร็ว 8 กม.ต่อวินาที จากนั้นจะประมวลผลสัญญาณ ตรวจวัดระดับน้ำทะเลจากคลื่นสึนามิ ซึ่งกรณีนี้ทุ่นตรวจวัดคลื่นได้แค่ 3 ซม. เท่านั้น แต่หากเกิดสึนามิจะต้องวัดคลื่นได้ตั้งแต่ 40-50 ซม.ขึ้นไป ดังนั้น ทางศูนย์เตือนภัยฯจึงไม่ได้ประกาศเตือนภัยสึนามิในประเทศไทย การที่คนแตกตื่นอพยพหนี เพราะได้รับข่าวสารจากข่าวต่างประเทศ ที่ได้รับข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวจากศูนย์เตือนภัยของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่บนฐานข้อมูลการวิเคราะห์ที่แตกต่างกัน และขอให้เชื่อมั่นในศูนย์เตือนภัยของไทย
สำหรับคน กทม.ที่ได้รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนได้มากกว่าจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะคนบนตึกสูงนั้น เนื่องจาก กทม.เป็นดินโคลน และมีส่วนผสมของน้ำมาก
เมื่อเกิดแผ่นดินไหวจะส่งผ่านมาทางคลื่นน้ำ และเมื่อกระทบกับดินโคลนที่มีความหนาแน่นมากกว่า น้ำก็จะเพิ่มแรงสั่นไหวขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณี ได้จัดสรรงบประมาณปี 51 เร่งศึกษาถึงผลกระทบถึงรอยเลื่อนที่มีอยู่ใน กทม.และปริมณฑล รวมทั้งสมุทรปราการ ชลบุรี และนครนายก เนื่องจากภาพถ่ายทางธรณีฟิสิกส์ทางอากาศตรวจพบรอยเลื่อนพาดผ่าน แต่ยังไม่รู้ว่ามีพลังที่จะก่อให้เกิดแผ่นดินไหวใน กทม. หรือไม่ แต่จากการเก็บสถิติและข้อมูลทางธรณีวิทยายังไม่พบสัญญาณบ่งชี้ แต่ก็ต้องศึกษาเพื่อจะได้เตรียมเฝ้าระวังและจะต้องใช้เวลาศึกษาสักระยะ