โละผลสอบอัตนัยโอเน็ต-เอเน็ต สทศ.ยันรื้อตรวจใหม่หมดทุกวิชา
ประธานบอร์ด สทศ. ยืนยันโละผลสอบอัตนัย รื้อตรวจใหม่ทุกวิชาให้กับเด็กทุกคนเพื่อเกิดความเป็นธรรม เฉพาะภาษาไทย-ภาษาอังกฤษใช้อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจวิชาละ 20 คน ที่เหลือใช้เครื่องตรวจแต่โปรแกรมใหม่ของ สกอ. "ภาวิช" ระบุ 17 เม.ย.นี้ เสนอ "จาตุรนต์" ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คุมเข้มตรวจข้อสอบโอเน็ต-เอเน็ต ส่วนข้อสอบที่ไม่มีคำตอบถูกต้อง ยกประโยชน์ให้เด็กทันที
ปัญหาความไม่เชื่อมั่น ในผลคะแนนการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ โอเน็ต (O-NET)และผลการทดสอบทางการศึกษาขั้นสูงแห่งชาติ เอเน็ต(A-NET) ที่ประกาศโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ 2 ครั้ง ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้เพื่อเด็ก
โดยเมื่อวันที่ 14 เม.ย.ได้มีมติร่วมสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย 9 สถาบันและผู้แทนมหาววิทยาลัยต่างๆที่ไม่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการและไม่ใช้คะแนนโอเน็ตและเอเน็ตรับเด็กเข้า เห็นชอบร่วมกันให้ตรวจข้อสอบปรนัยทั้งหมด 4.6 ล้านฉบับ ส่วนข้อสอบอัตนัยจะตรวจเฉพาะที่มีปัญหาเท่านั้น และจะมีการประกาศผล O-NETและ A-NET วันที่ 30 เม.ย.2549
ล่าสุดวันที่ 15 เม.ย. รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการบริหาร สทศ. เปิดเผยความคืบหน้าเรื่องการตรวจสอบข้อสอบอัตนัยว่า เท่าที่ได้หารือกับ รศ.ประทีป จันทร์คง รักษาการ ผอ.สทศ. และสอบถามอาจารย์ที่ตรวจข้อสอบอัตนัย ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องเบื้องต้นพบว่า การตรวจข้อสอบอัตนัยส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา และยืนยันที่จะตรวจข้อสอบอัตนัยใหม่ทุกวิชาและตรวจให้ทุกคน ไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นผู้ที่มาร้องเรียนหรือไม่ เพื่อความสบายใจและเกิดความเป็นธรรมกับทุกคน โดยเฉพาะข้อสอบบางข้อที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามาจะมีการตรวจซ้ำเป็นพิเศษ
รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา กล่าวต่อว่า ข้อสอบอัตนัยที่ใช้ในการสอบ O-NETและA-NET มีทั้งหมด 5 วิชา คือคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคม ซึ่งเป็นการตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเท่าที่ดูข้อมูลและสอบถามอาจารย์พบว่าการตรวจข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสังคม ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ทั้งนี้ก็ได้ขอหั้ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ได้ตั้งทีมเขียนโปรแกรมตรวจข้อสอบอัตนัยทั้ง 3 วิชาขึ้นมาใหม่แล้ว
"ส่วนวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่ใช้คนตรวจพบว่ามีปัญหาทางด้านเทคนิค เช่นวิชาภาษาอังกฤษที่พบว่าผู้สมัครบางที่ได้คะแนนเป็นศูนย์ อาจเกิดจากคอมพิวเตอร์อ่านผลคะแนนเพียงแค่ 1 หลักเท่านั้น เช่น ได้คะแนน 20 คะแนน แต่คอมพิวเตอร์อ่านคะแนนเป็น 0 หรือได้คะแนน 15 คะแนน แต่คอมพิวเตอร์อ่านเป็น 5 คะแนน นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กบางคนก็ส่งกระดาษเปล่า จึงทำให้คะแนนเป็นศูนย์ หรือบางคนตอบคำถามเหมือนท่องจำมาเขียน แต่ไม่ตรงกับคำตอบ จึงทำให้ไม่ได้คะแนน " รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา กล่าว
ประธานคณะกรรมการบริหารสทศ. กล่าวต่อว่า สทศ.จะเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาช่วยตรวจข้อสอบอัตนัยใหม่ทั้งหมด วิชาละ 20 คน ตนเชื่อว่าการตรวจข้อสอบใหม่จะช่วยสร้างความมั่นใจในการประกาศผลครั้งต่อไปได้ ส่วนที่มีเด็กร้องเรียนว่าข้อสอบไม่มีคำตอบ หรือมีคำตอบหลายข้อนั้น เป็นปัญหาที่เกิดทุกปีในการตรวจข้อสอบเอนทรานซ์ ซึ่งหากตรวจพบภายหลังจะยกประโยชน์ให้เด็กทัน เพียงแต่ไม่เคยแจ้งให้เด็กทราบเท่านั้น
ต่อข้อถามมีนักเรียนให้ข้อมูลว่ามีอาจารย์ตรวจข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษเอาข้อสอบไปให้นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏตรวจแทนนั้น รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา กล่าวว่า หากตรวจพบถือเป็นความผิด เพราะอาจารย์ที่เราเชิญมาตรวจข้อสอบต่างเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ถ้าเกิดเหตุเช่นนั้นจริงก็จะต้องหาคนรับผิดชอบ อย่างไรก็ดี คิดว่าขณะนี้เราต้องเร่งแก้ปัญหาการตรวจสอบคะแนนให้มีความถูกต้อง และหารายละเอียดสาเหตุของความบกพร่องในการตรวจให้ได้เสียก่อน อย่าเพิ่งไปหาคนผิด
ต้องยอมรับว่าการสอบ O-NETและA-NET เป็นการสอบครั้งแรก และยังมีการนำเรื่องข้อสอบอัตนัยมาใช้ด้วย แต่เมื่อทุกคนอยากให้มีการใช้ข้อสอบอัตนัย เพราะเป็นจุดที่ทำให้เห็นความสามารถของเด็กอย่าง่ชัดเจน เช่น ในวิชาภาษาอังกฤษ เด็กบางคนเขียนไม่ได้ส่งแต่กระดาษเปล่ามาเยอะมาก" คุณหญิงสุมณฑา กล่าวและว่า
ขอยืนยันว่าอย่างไงก็ยังต้องใช้ผลคะแนนข้อสอบอัตนัย เป็นองค์ประกอบการสมัครแอดมิชชั่นครั้งนี้ ซึ่งการออกข้อสอบหรือการตรวจข้อสอบอัตนัยไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ก็ต้องให้โอกาสกับผู้ที่ตรวจข้อสอบอัตนัยได้สร้างความคุ้นเคยด้วย ทั้งนี้หลักการตรวจข้อสอบอัตนัยจะต้องมีเกณฑ์ในการตัดสินอยู่แล้วว่าเนื้อหาที่ตอบนั้นจะเป็นต้องอย่างไร ถึงจะได้คะแนน และผู้ที่มาตรวจข้อสอบเป็นอาจารย์ทุกคน และมีความเชี่ยวชาญในแต่ละวิชาที่ตรวจสอบ ส่วนผู้ที่จะมาตรวจข้อสอบครั้งใหม่นี้จะคัดมาจากชุดเดิม ดังนั้นก็อยากให้ทุกคนมั่นใจว่าการตรวจข้อสอบว่าถูกต้อง
ส่วนเรื่องเวลาที่จะใช้ในการตรวจข้อสอบนั้น คุณหญิงสุมณฑา กล่าวว่า ถ้าดูจากเวลาที่จะต้องประกาศผล O-NETและA-NET ในวันที่ 30 เม.ย.คิดว่าทำทันแน่นอน และในวันที่ 17 เม.ย. นี้ เวลา 9.30 น.คณะกรรมการบริหารสทศ.จะหารือกันอีกครั้งที่ สทศ. เพื่อคุยกันว่าจะแบ่งงานกันอย่างไร คาดว่าไม่เกิน 12.00 น.น่าจะประชุมเสร็จ จากนั้นจะแถลงต่อสื่อมวลชน เพื่อให้เด็กและผู้ปกครองได้รับทราบต่อไป
ด้านรศ.ประทีป จันทร์คง รักษาการผอ.สทศ. กล่าวว่า ช่วงวันที่ 15-16 เม.ย. ซึ่งเป็นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ สทศ.ทำการตรวจสอบกระดาษคำตอบกับเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ทั้งตรวจสอบความสมบูรณ์ของกระดาษคำตอบอัตนัยด้วย โดยในส่วนของข้อสอบอัตนัยนั้น วิชาภาษาไทยและวิชาภาษาอังกฤษจะใช้คนซึ่งเป็นอาจารย์เป็นผู้ตรวจทุกวิชาที่เหลือจะตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งในส่วนของอัตนัยภาษาอังกฤษนั้น พบปัญหาแล้วว่า การให้คะแนนไม่เป็นปัญหา แต่ปัญหาเกิดจากตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ในการอ่านคะแนน
รักษาการ ผอ.สทศ. กล่าวต่อว่า ส่วนอัตนัยวิชาภาษาไทยนั้น ตามที่นักเรียนร้องเรียนว่าคำตอบบางคนถูกต้อง แต่ไม่ได้คะแนนเพราะไม่มีเครื่องหมายจุลภาค(,)นั้น ก็ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการให้คะแนนของอาจารย์ผู้ตรวจ ซึ่ง สทศ.กำลังตรวจสอบและรวบรวมอยู่ และพร้อมจะตรวจข้อสอบอัตนัยใหม่ทั้งหมดทุกวิชา เพราะขณะนี้สทศ.รอคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาอยู่ หากสั่งการมา สทศ.ก็พร้อมดำเนินการได้ทันที เรื่องจากข้อสอบอัตนัยมีการสแกนกระดาษคำตอบอยู่ในคอมพิวเตอร์เรียบร้อยหมดแล้ว
ขณะที่ ศ.(พิเศษ)ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่องเยาวชนคิดอย่างไรต่อวิธีการวัดความรู้แบบ O-NETและA-NET โดยระบุว่า ร้อยละ 80.9 ยังไม่เข้าใจในเรื่องคะแนนที-สกอร์ และยังไม่ชัดเจนในเรื่องของระบบแอดมิสชั่นกลาง ว่า เป็นไปไม่ได้ที่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไม่เข้าใจเกี่ยวกับระบบแอดมิสชั่นกลาง เพราะเท่าที่ดูเด็กส่วนใหญ่ก็เข้าใจดี ส่วนคะแนนที - สกอร์นั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจในทางทฤษฎี และก็ได้ยกเลิกไปแล้ว
เลขาธิการ กกอ. กล่าวต่อว่า ต้องมาพิจารณาด้วยว่าโพลได้ตั้งคำถามที่ถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ กับสถานการณ์ขณะนี้โพลควรทำให้สังคมเข้าใจด้วยว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่เกี่ยวกับระบบแอดมิสชั่น แต่เป็นปัญหาที่ตรวจข้อสอบ O-NETและA-NET สทศ. ที่ผิดพลาด ทั้งในส่วนของบุคคลและระบบ
ส่วนที่ ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์แนะว่ารัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาเพื่อกู้ศรัทธานั้น ขณะนี้ สกอ.ในฐานะหน่วยงานของรัฐก็ได้เข้ามาเป็นกลไกช่วยแก้ไขปัญหาอยู่ ทั้งที่จริง สกอ.ไม่สามารถไปก้าวก่ายงานของ สทศ.ได้ เพราะ สทศ.มีฐานะเป็นองค์การมหาชน แต่ถ้าผม และ สกอ.ไม่เข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้อย่างรวดเร็ว กลไกการทำงานจะดำเนินต่อไปได้อย่างไร เลขาธิการ กกอ. กล่าว
เลขาธิการ กกอ. กล่าวต่อไปว่า ในวันจันทร์ที่ 17 เม.ย. 2549 นี้ สกอ. จะเสนอรายชื่อแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระที่จะเข้ามาตรวจสอบคะแนน O-NETและA-NET พร้อมทั้งเสนอตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการของคณะกรรมการอิสระอีก 1 คณะ เพื่อเสนอต่อนายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามแต่งตั้งด้วย ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบที่ตั้งขึ้นเพื่อสร้างความโปร่งใสในการทำงาน ซึ่งประกอบด้วย ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) เป็นประธาน ผู้แทนสมาคมครูและผู้ปกครองจากโรงเรียนต่าง ๆจากใน กทม.และต่างจังหวัดจำนวนหนึ่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(ผอ.สพท.) และตัวแทนจากองค์กรอิสระหรือองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพื่อมาสร้างความโปร่งใสในการทำงาน แต่คณะกรรมการชุดนี้ต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกแต่อย่างใดทั้งสิ้น