ทั้งนี้ออกประกาศใช้เมื่อปี 51 (10 ปีที่แล้ว) ตามมติการประชุมกรรมการแพทยสภา ครั้งที่ 8/2551 วันที่ 14 ส.ค. 51 โดยได้แจ้งให้มีการปรับใหม่ ลงจดหมายข่าวแพทยสภา และประกาศทางเว็บไซต์ เพื่อให้สถานพยาบาลทุกแห่งนำมาใช้ให้เข้าเกณฑ์ตามข้อกฎหมาย และให้ดาวน์โหลดได้ที่ เว็บไซต์แพทยสภา ซึ่งสถานพยาบาลส่วนใหญ่ได้นำไปใช้แล้ว แต่ยังพบว่าบางสถานพยาบาลยังคง "ตกข่าว" ใช้แบบท่อนเดียว (ไม่มีผู้ป่วยรับรองตนเอง) ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงในการรับรองสุขภาพ และให้สอดคล้องกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ทางกรมขนส่งทางบก ยังจะใช้แบบฟอร์มใบรับรองแพทย์นี้ ตั้งแต่ 1 มี.ค. 61 เป็นต้นไป
ขณะที่ นพ.พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ (หมอกระดูกและข้อ) กล่าวว่า เมื่อมีความจำเป็น แพทย์ก็ควรทำให้ เพื่อยืนยันว่าบุคคลนั้นมาพบแพทย์ และตรวจสุขภาพตามที่เป็นจริง โดยการออกใบรับรองแพทย์ที่เป็นเท็จ แพทย์อาจได้รับโทษได้อย่างน้อย 2 สถาน คือ ป.อาญา มาตรา 269 ผู้ใดประกอบในวิชาแพทย์ กฎหมาย บัญชี หรือ วิชาชีพอื่นใด ทำคำรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดเกี่ยวกับข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษามารยาทแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2526 หมวดที่ 3 ข้อที่ 9 ซึ่งระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ต้องไม่ออกใบรับรองเท็จโดยตั้งใจ หรือให้ความเห็นไม่สุจริต ซึ่งอาจถูกลงโทษถึงขั้นพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตฯ
"สำหรับประชาชนที่ให้แพทย์ออกใบรับรองให้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ถูกต้อง และนำไปใช้ ก็จะมีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 269 ด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่าใบรับรองแพทย์มีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่ของกฎหมาย และการที่ผู้ป่วยจะขอใบรับรองแพทย์ ก็ต้องคำนึงถึงว่าจะนำใบรับรองแพทย์ไปใช้เพื่ออะไร แพทย์จะได้ออกให้ถูกต้องกับการไปใช้มากที่สุด เพราะออกใบรับรองแพทย์เท็จ มีความผิดทางกฎหมายทั้งแพทย์และผู้ที่นำใบไปใช้" นพ.พนมกร ระบุ