1.รัฐบาลจะต้องก้าวทันกระแสการพัฒนาที่ยังยืนที่สหประชาชาติได้ประกาศไว้ในเวทีโลก ซึ่งรวมถึงการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน นั่นคือแหล่งผลิตพลังงานที่ปลอดภัย และไม่สร้างมลพิษให้กับโลกใบนี้
2.ทิศทางการผลิตพลังงานของโลก ที่ต่างยอมรับร่วมกันแล้วว่า จะต้องลดการใช้พลังงานฟอสซิล และต้องหันไปพัฒนา หรือสร้างเทคโนโลยีเพื่อให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนให้สามารถทดแทนได้อย่างแท้จริง
3.รัฐบาลควรจะประกาศวาระแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงพลังงานได้อย่างแท้จริง โดยการแก้ไขกฎหมาย และระเบียบต่างๆที่ขัดกับแนวทางดังกล่าว
4.รัฐบาลควรทบทวนบทบาท หรือปฏิรูปองค์กรที่ผูกขาดด้านพลังงานของประเทศ เพื่อให้องค์กรเหล่านี้ได้ทำหน้าที่ในบทบาทที่สอดคล้องกับแนวนโยบายเบื้องต้น
5.คำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ที่ท่านได้สั่งให้มีการชะลอ และทบทวนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
พวกข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่ารัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ในฐานะผู้ที่กำกับนโยบายด้านพลังงาน และดูแลหน่วยงานในความรับผิดชอบของท่าน ต้องกล้าที่จะปฏิรูปแนวคิดด้านพลังงานในมิติใหม่ๆ ที่จะต้องข้ามพ้นผลประโยชน์ขององค์กรที่หวังเพียงผลกำไร หากแต่จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในระยะยาวร่วมด้วย จึงขอให้ท่านดำเนินการดังนี้
1.ต้องยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพราะถือว่าได้หมดความชอบธรรมที่จะดำเนินการต่อไป ด้วย 3 เหตุผล คือ 1.โครงการนี้มีกระบวนการจัดทำรายงานที่ไม่ได้มาตรฐาน 2.มีผลประโยชน์ทับซ้อน และมีการเอื้อประโยชน์จากการซื้อขายที่ดินของคนบางกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญจนทำให้เกิดความขัดแย้งภายในชุมชนอย่างหนัก และ3.การเลือกพื้นที่ก่อสร้างที่ไม่เหมาะสม ด้วยเป็นที่ตั้งของชุมชนดั้งเดิมที่มีวิถีวัฒนธรรมและประชากรกว่า 200 ครัวเรือนและยังเป็นแหล่งอาหารและทรัพยากรที่สำคัญต่อวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านและประชาชนที่นี่ รวมถึงในจังหวัดใกล้เคียง
2.เราขอสนับสนุนแนวคิดของท่านรัฐมนตรี ที่ต้องการทบทวนแผนบริหารจัดการพลังงาน หรือ แผนพีดีพี เสียใหม่ หากแต่แนวทางดังกล่าวนั้นจะต้องคำนึงถึงรูปแบบการผลิตพลังงานที่สะอาดปลอดภัยอย่างแท้จริง และต้องส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจนขึ้น
3.รัฐบาลจะต้องส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี อุปกรณ์ เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้สามารถผลิตได้เองในประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้จริง อีกทั้งจะต้องสร้างมาตรการจูงใจให้ประชาชน หน่วยงาน องค์กรทั้งของรัฐ และเอกชน เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในอนาคต
ความมั่นคงด้านพลังงาน คือแนวนโยบายสำคัญที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ และจะต้องออกแบบ วางแผนเพื่อสร้างความมั่นใจในการบริหารประเทศ หากแต่ความมั่นคงดังกล่าวนั้นจะต้องคำนึงถึงชีวิต ความปลอดภัย และผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนด้วยเช่นกัน มิใช่เพียงแค่การคำนึงถึงผลประโยชน์ของบุคคลเฉพาะกลุ่ม และเราเชื่อว่าแนวทางของกระแสโลกในวันนี้ได้เป็นที่ยอมรับร่วมกันแล้วว่า การลด และเลิกกิจกรรม หรือโครงการที่จะสร้างผลกระทบทางมลพิษให้แก่โลกใบนี้คือภารกิจร่วมกัน หากมิใช่เพียงแค่การร่วมตกลงในคำมั่นเพียงลายลักษณ์อักษรเท่านั้น แต่จะต้องมีรูปธรรมของข้อตกลงดังกล่าวให้เป็นที่ประจักษ์กับสังคมโลกด้วย จึงจะเป็นการแสดงออกที่รับผิดชอบต่อประชาชนในประเทศ และประชาคมอย่างแท้จริง