นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง กล่าวว่า มลพิษทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯมีสาเหตุหลักมาจากสภาพการจราจรที่หนาแน่น ในขั้นวิกฤติเนื่องจากกรุงเทพฯ มีการใช้รถยนต์จำนวนมาก และมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการปล่อยมลพิษทางอากาศมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2560 กรุงเทพฯตรวจพบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนนั้น จากการตรวจวัดในจุดตรวจทั่วกรุงเทพฯ 23 จุดซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ย่านเขตเมืองและย่านเศรษฐกิจ พบว่า มีค่าเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลบ.ม ในทุกจุดตรวจวัด โดยจุดที่พบปริมาณฝุ่นละอองมากที่สุดคือในจุดตรวจเขตบางเขน เขตธนบุรี วัดได้สูงถึง 116 ไมโครกรัมต่อลบ.ม. ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ชั้นในที่อาจจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคตหากไม่มีมาตรการจัดการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน ซึ่งเป็นพื้นที่ย่านการค้า เศรษฐกิจที่สำคัญ จึงมีการสัญจรอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา รวมทางปัจจุบันมีการก่อสร้างต่างๆบนผิวการจราจร เช่นการขุดก่อสร้างรถไฟฟ้า ก่อสร้างอาคาร ขุดถนน ทำท่อระบายน้ำเป็นต้น ซึ่งปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างมาก ดังนั้น กทม.จึงได้วางแนวทางดำเนินโครงการเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน โดยกำหนดพื้นที่เขตปทุมวัน เป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากเป็นจุดที่มีสภาพอากาศเป็นพิษ และมีการจราจรหนาแน่นเข้าขั้นวิกฤต โดยในแต่ละวันมีประชาชนสัญจรผ่านเป็นจำนวนมาก