พระคู่หมั้นเจ้าชายแฮร์รี่ แวะกินผัดไทย ชวนเจ้าของร้านคุย-ถามเมนูเด็ด
"โอ้ พระเจ้า ที่ผ่านมาทั้งชีวิตฉันกินอะไรไป นี่คือรสชาติที่แท้จริงของผัดไทย มันเปลี่ยนมุมมองของฉันที่มีต่ออาหารจานนี้ไปเลย"
มาร์เคิลบอกว่า ไม่มีอะไรหวือหวาที่นั่น ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เธอรักร้านนี้ เพราะความสนใจทั้งหมดอยู่ที่อาหาร ซึ่งรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมที่เคยทำกันมาหลายสิบปี พร้อมกับรับว่าเธอยังเป็นแฟนพันธุ์แท้ของผัดไทยอีกด้วย
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวมติชน ได้สัมภาษณ์นางกระช้อยชุลี กิมังค์สวัสดิ์ อายุ 65 ปี ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านโชติจิตร โดยนางกระช้อยชุลีกล่าวว่า ตนเพิ่งทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อราว 2 เดือนก่อน เนื่องจากมีหนังสือพิมพ์จากประเทศอังกฤษเดินทางมาสัมภาษณ์แล้วถามว่าตนทราบเรื่องหรือไม่ ตนตอบว่าไม่ทราบ เนื่องจากนางสาวมาร์เคิลเดินทางมาที่ร้านเหมือนนักท่องเที่ยวธรรมดา ไม่ได้มีบอดี้การ์ด เมื่อชวนคุยก็ตอบไปตามปกติ โดยถามว่าอาหารที่ร้านเป็นอย่างไร และยังบอกว่าเป็นคนชอบทานอาหารหลายชาติ แล้วมาเป็นแฟนอาหารไทย ชอบรับประทานผัดไทยมาก จำได้ว่าวันนั้นมีการสั่งอาหารหลายอย่าง เช่น ผัดไทย ปลายำมะม่วง พริกขิงกุ้ง ไก่กระหรี่ เมื่อตนทราบข่าวรู้สึกปลื้มใจและภาคภูมิใจมาก
"ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าเป็นใคร เพราะปกติที่ร้านมีฝรั่งและชาวต่างชาติมาทานเยอะมาก ถ้าจำไม่ผิดมากัน 3 คน อีก 2 คนเป็นผู้หญิงอายุใกล้เคียงกันหมด มาถึงก็สั่งอาหารและนั่งทานเลย เขายังคุยเล่นบอกว่ามาตามไกด์บุ๊ก และถามว่าอาหารที่นี่เป็นอย่างไร ก็ตอบไปว่าอาหารไทยธรรมดาเหมือนทั่วไป เพียงแต่ร้านเราอาจจะถูกปากคนไทยมากหน่อยเท่านั้น
หลังจากข่าวออกมาในสื่อไทยมีโทรศัพท์มาที่ร้านทั้งวัน เดินมาถามหน้าร้านก็มี คิดว่าจุดเด่นของเราคือความเก่าแก่เพราะขายมา 100 กว่าปี ตั้งแต่รุ่นคุณตาโดยยังคงรสชาติดั้งเดิมไว้ อาหารดังคือ หมี่กรอบ ยำหัวปลี และยำถั่วพู นอกจากนี้ ก็มียาดองซึ่งเป็นสูตรคุณตาเหมือนกัน คนจะซื้อไปดื่มข้างนอก ฝรั่งบางคนก็ซื้อดื่มก่อนอาหาร" นางกระช้อยชุลีกล่าว
ทั้งนี้ ร้านโชติจิตรเป็นร้านเก่าแก่ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยนายโชติ เหล็งสุวรรณ ข้าราชการทหาร ซึ่งมีความรู้ด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนโบราณ จึงเริ่มจากการปรุงเหล้ายาแก้อาการต่างๆ เช่น แก้กษัย ปวดเมื่อย จากนั้นจึงค่อยปรุงอาหารจำหน่ายตามคำแนะนำของเพื่อน เดิมมีรายการอาหารเพียง 1-2 เมนู ต่อมาจึงค่อยๆ เพิ่มเติมจนปัจจุบันมีมากถึง 50 รายการ สำหรับเมนูดั้งเดิม ได้แก่ ยำถั่วพู ยำหัวปลี หมี่กรอบ ในอดีตกลุ่มลูกค้าเป็นคนไทย ต่อมามีสื่อภาษาอักฤษนำเรื่องราวของร้านไปเผยแพร่จนค่อยๆ เป็นที่รู้จัก กระทั่งปรากฏในไกด์บุ๊กหรือหนังสือนำเที่ยวว่าเป็นร้านที่ต้องมารับประทาน หากเดินทางมายังประเทศไทย
ที่มา มติชนออนไลน์