ทั้งนี้ประชาชนที่ได้รับใบสั่งแล้วสามารถไปชำระค่าปรับที่ธนาคารกรุงไทย ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย หรือ แอปพลิเคชัน KTB net bank บนมือถือ หรือ สถานที่ที่มีสัญลักษณ์พีทีเอ็ม (PTM) แสดงอยู่ โดยประชาชนสามารถจ่ายค่าปรับผ่านทางธนาคารได้ภายหลัง 2 วันทำการ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจราจรจะต้องนำข้อมูลมาบันทึกลงระบบพีทีเอ็มก่อน โดยมีค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อบิล แต่หากถูกยึดใบขับขี่จะไม่สามารถทำได้ แต่หากประชาชนที่ถูกจับปรับมีความประสงค์จะจ่ายเงินค่าปรับที่สถานีตำรวจก็สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ครบ 2 วัน
อย่างไรก็ตามในระยะแรกที่เริ่มใช้ระบบอาจจะยังมีข้อบกพร่องบ้าง ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)จะพยายามพัฒนาระบบให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน รวมทั้งในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อทำการอายัดการชำระภาษีชั่วคราว ในกรณีที่ผู้ขับขี่ไม่มาชำระค่าปรับระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งกรณีการใช้มาตรการตัดแต้มใบขับขี่
ก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธุ์ รรท.ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงกรณีใบสั่งจราจรแบบใหม่หลังมีการประกาศใช้ในราชกิจจาบุเบกษา เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 ว่า ได้เปลี่ยนแปลงใบสั่งจราจรทั้งรูปแบบการเขียนและรูปแบบที่ส่งทางไปรษณีย์ โดยทั้ง 2 แบบ จะเพิ่มรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจนมากขึ้น อาทิ ใบสั่งแบบเขียนด้วยมือ จะมีขนาดเล็กลง, เพิ่มบาร์โค้ด เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบข้อมูลและการชำระค่าปรับ, มีการระบุชื่อผู้ออกใบสั่งอย่างชัดเจน
กรณีที่ประชาชนเห็นว่า การแจ้งข้อหาจราจรหรือการออกใบสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถปฏิเสธข้อหาได้ ซึ่งตำรวจจะบันทึกข้อมูลการปฏิเสธในใบสั่ง เพื่อให้ผู้ได้รับใบสั่งไปพบพนักงานสอบสวนให้ตรวจสอบภายใน 15 วัน หากผู้ได้รับใบสั่งไม่ได้กระทำผิดจริง จะดำเนินการยกเลิกให้ โดยขณะนี้ยังใช้ใบสั่งแบบเก่าไปก่อน เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ใบสั่งใหม่ คาดว่าจะสามารถใช้ได้ภายใน 120 วัน
นอกจากนี้ พล.ต.ท.วิทยา ยังกล่าวอีกว่า ส่วนใบสั่งที่ส่งทางไปรษณีย์เริ่มใช้พร้อมกันแล้วทั่วประเทศ ซึ่งจะมีข้อมูลการบันทึกคะแนนใน 27 ข้อหาหลักด้วย เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถเก็บสถิติข้อมูลการกระทำผิดต่างๆ ได้อย่างชัดเจน และเชื่อมั่นว่า จะช่วยลดปัญหาทุจริตเงินค่าปรับ การเรียกรับสินบนของเจ้าพนักงานจราจรได้อย่างแน่นอน และการบันทึกข้อมูล สถิติข้อหาการกระทำผิดกฎหมายจราจร จะทำให้ตำรวจสามารถนำมาวางแผนป้องกันอุบัติเหตุได้มากขึ้น และจะช่วยลดปัญหาด้านการจราจรได้มากขึ้น