ข้อคิด วันครอบครัว รู้ไหม เวลา มีค่าแค่ไหน
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 14 เมษายน 2549 13:10 น.
ครอบครัว เป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคมแต่ก็มีความสำคัญที่สุด เพราะครอบครัวเป็นเสมือนเบ้าหล่อหลอมคน ทำหน้าที่สร้างคนให้เป็นคน ครอบครัวจึงเป็นปฐมเหตุแห่งความดีและไม่ดีด้วย ยิ่ง ในยุคที่ปัญหาครอบครัวหนักหน่วง รุนแรง เดินผิดทิศผิดทางจนเราอาจต้องกลับมาทบทวนว่า เราหลงลืมอะไรกันไปบ้างหรือเปล่า? "
ทุกวันนี้เรียกได้ว่า ครอบครัวไทยภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างแรง หลายครั้งที่ลูกสาว ลูกชายเกิดคำถามในใจว่า ทำไมพ่อ-แม่มักไม่มีเวลา ในขณะที่บางครั้งเราก็เพียงต้องการให้ใครสักคนฟังยามมีปัญหา ปลอบโยนยามเหงา คุยเป็นเพื่อนยามว้าเหว่ แต่ในห่วงวิถีชีวิตผู้คนที่แปรเปลี่ยนไป วัตถุสิ่งของกลับมีค่ามีราคามากกว่าเวลาเล็กน้อยที่ให้กับคนคนหนึ่ง
เนื่องใน วันครอบครัว ซึ่งตรงกับวันที่ 14 เมษายนของทุกปี พระราชเมธาภรณ์ รองอธิการบดี ม.มหามกุฎราชวิทยาลัย และรศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาให้ข้อคิดต่างๆ ที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจ
พระราชเมธาภรณ์ ให้แนวคิดว่า เยาวชนต้องนั่งอยู่บนเก้าอี้ 4 ขา คือ รัฐบาล ครอบครัว การศึกษา ศาสนา ซึ่งครอบครัวมีความสำคัญเป็นอันดับแรกสุด เพราะพ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก ครูที่จะสอนคุณงามความดี การประพฤติปฏิบัติและการใช้ชีวิต
สำหรับตัวอาตมาเองออกบวชตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เมื่อออกจากครอบครัวก็รู้สึกได้รับความรักความอบอุ่นจากครอบครัวน้อยเกินไป แต่ก็ได้ใช้อานิสงส์จากการบวชชดเชย ใช้พระธรรมให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและผู้อื่น อย่างไรก็ตาม แม้บวชแล้วความเป็นพ่อแม่ลูกก็ยังอยู่ ลูกยังคงเป็นลูก สายใยไม่มีสูญ ทั้งนี้ ในทางศาสนา บิดา-มารดาถือเป็นผู้มีพระคุณที่ควรทดแทน และความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี
สำหรับผู้นำและหัวหน้าครอบครัวก็ควรเป็นแบบอย่างที่ดีกับสังคม ไม่ใช่พูดอย่างทำอีกอย่าง คงจะสอนลูกหลานได้ยาก หรือไม่พวกเขาคงไม่ค่อยเชื่อถือนัก หากปลูกต้นไม้ไม่ดูแล ต้นไม้ก็ไม่เจริญงอกงาม การดูแลต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
สาระสำคัญ คือ การให้เวลากับครอบครัว คนเราไม่ควรประมาท 4 เรื่อง คือ วัย สถานที่ บุคคล เวลา อาตมาเคยสอนพระรูปหนึ่งว่า การบวชน้อยเป็นข้อด้อย แต่เราสามารถใช้เวลาน้อยให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงไม่สำคัญที่จะบวชแก่พรรษาแต่ให้แก่วิชาความรู้จะดีกว่า ใช้เวลาให้มีคุณค่ามากที่สุด เวลาในวัดกับนอกวัดเท่ากันแต่ให้คุณค่าไม่เหมือนกัน
พระราชเมธาภรณ์ให้แง่คิดด้วยว่า หลักธรรมในการใช้ชีวิตให้มีความพอดีคือ มัฌชิมาปฎิปทา ดังนั้น เราควรรู้จักแบ่งเวลา จะใช้เวลายังไง ลองปรับดูสัก 7 วันก็เห็นผลการเปลี่ยนแปลง ส่วนวันว่างจะทำอะไรดีก็ขอแนะนำให้เจริญศีล สมาธิ ปัญญา สวดมนต์ รู้จักการให้และรับที่เหมาะสม ที่มีปัญหาทุกวันนี้ก็เพราะการให้และรับไม่สมดุล พ่อแม่ให้เงินแก่ลูก กลับเกิดปัญหาเพราะลูกต้องการอีกแบบ เงินจึงไม่เป็นการแก้ปัญหาเสมอไป ความรักความอบอุ่นสำคัญที่สุด
ขณะที่รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า สถาบันครอบครัวจะยังคงล้มเหลวหากผู้ชายยังไม่ให้ความสนใจและละเลย โดยเฉพาะครอบครัวของชนชั้นกลางเข้าสู่ภาวะวิกฤตที่สุด จากสถิติพบว่ากิจกรรมวันหยุดส่วนใหญ่หมดไปกับการดูโทรทัศน์ ชอปปิง เล่นกีฬา ท่องเที่ยว ซึ่งนี่เป็นวิถีชีวิตของชนชั้นกลางที่อิงกับมาตรฐานตะวันตกมากขึ้นตามลำดับ
ไม่ว่าผู้ชาย ผู้หญิงก็ต้องทำงานหนัก ยิ่งผู้หญิงทำงานเป็น 2 เท่าของผู้ชาย ทั้งงานบ้าน งานนอกบ้าน เมื่อถึงวันหยุดก็อยากพักผ่อนเพราะเหนื่อยเต็มที ทุกคนต่างทุ่มเทเวลาให้งานตั้งใจยกระดับรายได้ โดยเฉพาะ วัย 35-39 เป็นวัยที่ต้องทำงาน แต่กลับมีเวลาอยู่กับครอบครัวน้อยที่สุด พ่อแม่ ไม่มีเวลา แต่ลูกๆ แต่วัยรุ่นกลับมีเวลาเหลือเฟือ จึงไม่พ้นที่จะใช้เวลาไปกับการดูทีวี เล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ต ชอปปิง ส่วนกิจกรรมที่ทำร่วมกับของครอบครัวไม่มีอะไรนอกจากการเดินตากแอร์ในห้างสรรพสินค้า
ยิ่งในครอบครัวชนชั้นกลาง มุ่งหวังให้ลูกเป็นเด็กเก่ง ได้รางวัล แบบแผนของชีวิตไม่มีอะไรซับซ้อนเรียนต่อ สอบเข้าเท่านั้น เด็กถูกกระตุ้นให้ต้องเก่ง ต้องแข่งขันได้ที่ 1 แม้ต้องเอาเปรียบคนอื่นก็ตาม ดังนั้นในยุค 10 ปีที่ผ่านมา เด็กจึงถูกออกแบบด้วยระบบทุนนิยม เด็ก 30-40% จึงกลายเป็นมนุษย์สุกๆ ดิบๆ ไม่ใช่เยาวชนที่พึ่งประสงค์เรียกว่าเป็นเด็กแนวร่วมปัจจุบัน แต่ถ้าอยากให้ลูกเป็นคนดีควรพาลูกเข้าวัด ถวายสังฆทาน การออกแบบชีวิตให้กับลูกสำคัญมาก
รศ.ดร.สมพงษ์ บอกอีกว่า ด้วยความห่างเหินในครอบครัว บางครอบครัวผู้หญิงที่แต่งงานแล้วก็มีแนวโน้มมีกิ๊กมากขึ้น ส่วนชายวัย 40 ต้นๆ ก็เที่ยวนอกบ้านครึ่งหนึ่งใช้เวลาหมดไปกับนักศึกษาที่เป็นไซน์ไลน์ การหย่าเพิ่มสูงขึ้น ลูกเหงามากยิ่งขึ้น ความรุนแรงไหลเข้าสู่ครอบครัว หากเรายังใช้เวลาปล่อยให้ไหลไปตามยถากรรม
รศ.ดร.สมพงษ์ แนะนำว่า ขอให้ขอให้เปลี่ยนวิถีชีวิตการทำงาน เมื่อภรรยาทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้านผู้ชายจึงควรหันมาใส่ใจช่วยภรรยาทำงานบ้านเลี้ยงลูกเรียกว่าหาร 2 ถ้าช่วยกันทำงานบ้านเด็กจะค่อยๆ ซึมซับเด็กจะคิดทำอย่างไรช่วยผ่อนภาระของพ่อแม่ หรืออาจใช้เวลากับลูก เช่น การสอนหนังสือจะช่วยให้เรารู้จักเขามากยิ่งขึ้น
การที่หลายๆ คนบอกว่ามีเวลาน้อยเป็นการหลอกตัวเอง เรามีเวลาพอสมควรที่จะคิดว่าเราจะจัดการอย่างไรกับลูกหลาน สิ่งที่ต้องเตรียมการเกี่ยวกับลูก คือ การติดตามข่าวสารบ้านเมืองสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง อย่ามองข่าวแค่ผ่านๆ วันดีคืนดีก็นำเหตุการณ์สถานการณ์เหล่านั้นมาพูดคุยกับลูกโดยเป็นไปอย่างสบายๆ เช่นช่วงขณะที่ดูโทรทัศน์ รับประทานอาหาร ถามความเห็นทัศนคติลูกนั้นนี่ พร้อมทั้งเตรียมทักษะชีวิต ยกกรณีตัวอย่างเพื่อติดไว้ในความทรงจำ มีน้ำหนัก เวลาลูกถามก็ไม่ใช่ทำมีรำคาญ เฮ้ย...ถามอยู่ได้ วุ่นวายจัง ยุ่งจังเราต้องอดทนรู้จักระงับความโกรธ ควบคุมอารมณ์ให้ได้ด้วย
การมีเวลาให้กับครอบครัวถือเป็นสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และการสร้างคุณค่าร่วมกัน เรามาตั้งต้นเริ่มใช้วันครอบครัวหันมาใส่ใจดูแลคนใกล้ชิดโดยการให้เวลาแก่กันและกันแล้วทำทุกวันให้เป็นที่มีความสุขกันดีกว่า รศ.ดร. สมพงษ์ทิ้งท้าย