โดยมี ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ พล.ท.ม.ล.กุลชาติ ดิศกุล เป็นผู้รับผิดชอบในการประสานงานเหล่าสมาชิกราชสกุลท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ กล่าวในการประชุมสมาชิกราชสกุลที่เข้าร่วมพระราชพิธีครั้งนี้ว่า พระบรมวงศานุวงศ์
ราชสกุล ข้าราชบริพารในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แพทย์-พยาบาลผู้ที่เคยถวายงาน สมาคม องค์กร มูลนิธิ โรงเรียน ที่ได้รับคัดเลือกมาร่วมในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศในครั้งนี้นับว่าโชคดีที่สุดที่ได้เกิดมาภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร เกิดในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 นับว่าทุกคนโชคดีจริงๆ คณะกรรมการได้ทำการคัดสรรผู้ที่ได้รับหน้าที่อันทรงเกียรตินี้เป็นอย่างดีที่สุด
ขณะที่ พล.ท.ม.ล.กุลชาติ ดิศกุล ในฐานะผู้ประสานงานราชสกุลทุกมหาสาขา กล่าวถึงหลักการคัดเลือกพระประยูรญาติในการเข้าร่วมในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศว่า ครั้งนี้มีราชสกุลทุกมหาสาขาเข้าร่วมเดินประมาณ 80 ราชสกุล จากทั้งหมด 129 ราชสกุล แต่ไม่มีผู้สืบทอดประมาณ 18 ราชสกุล การพิจารณานั้นคณะกรรมการจะพิจารณา 2 เรื่องด้วยกัน ประกอบด้วย 1.คัดเลือกจากผู้ที่เคยร่วมในพระราชพิธีริ้วขบวนพระราชอิสริยยศในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และ 2.ดูความเหมาะสมในเรื่องของพระชันษา เพราะหม่อมเจ้าบางพระองค์ทรงมีชันษามากแล้ว ไม่สามารถอยู่ในริ้วขบวนได้เป็นเวลานาน
ในการซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศของพระราชวงศ์และราชสกุล ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทุกครั้ง การซ้อมริ้วขบวนที่ 2-5 มีผู้แทนราชสกุลต่างๆ ร่วมขบวน
ริ้วขบวนที่ 2 เป็นริ้วเชิญพระมหาพิชัยราชรถทรงพระบรมศพเคลื่อนจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปยังมณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง ริ้วขบวนที่ 3 เชิญพระบรมโกศพระบรมศพเวียนรอบพระเมรุมาศโดยอุตราวัฏ (เวียนซ้าย) ริ้วขบวนที่ 4 เชิญพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคารประดิษฐาน ณ พระบรมมหาราชวัง และริ้วขบวนที่ 5 เชิญพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยานไปยังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
เหล่าสมาชิกราชสกุลได้เข้าร่วมฝึกซ้อมหลายครั้ง มีตั้งแต่อายุ 20 กว่า ไปจนถึง 70 กว่า โดยการดูแลของ พล.ต.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.กองพลทหารราบที่ 11 ที่เคยกล่าวกับสมาชิกราชสกุลในการฝึกซ้อม
ครั้งหนึ่งว่า งานนี้ขอถวายชีวิตเพื่อให้งานออกมาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
ดังนั้น เพื่อให้มั่นใจที่สุดเท่าที่จะทำได้ว่าริ้วขบวนจะต้องสง่างามสมพระเกียรติ โดยในวันพระราชพิธีเหล่าสมาชิกจะต้องแต่งกายด้วยชุดขอเฝ้า หรือชุดไทยจิตรลดา เจ้าหน้าที่ได้แบ่งการจัดแถวให้เป็นระเบียบ โดยจัดเรียงตามชั้นยศ อาทิ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์ช้างเผือก และประถมาภรณ์มงกุฎไทย และเรียงตามส่วนสูง
การฝึกซ้อมเริ่มตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน การยืนตรง การวางมือ ซ้ายหัน ขวาหัน วันทยาหัตถ์ ถอนสายบัว การซ้อมเดินในแถว การเตรียมร่างกายให้พร้อม อาหารที่กินก่อนช่วงพระราชพิธีไม่ควรกินอาหารแปลกๆ ที่ไม่เคยกิน เพราะอาจปวดท้องในระหว่างการร่วมเดินริ้วขบวน
นอกจากนี้ยังมีการเตรียมร่างกายให้พร้อม หลับพักผ่อนให้เพียงพอ แม้แต่การทานยาบำรุงต่างๆ การแต่งกาย ทรงผม การซักซ้อมการเดินทาง การเตรียมรถยนต์ บัตรจอดรถ กำหนดให้มาลงเรือที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ จากเดิมช่วงซ้อม นัดเวลาตี 4 เพื่อเดินทางเข้าไปยังจุดนัดหมายบริเวณท้องสนามหลวง แต่ตอนหลังมีการปรับเวลาให้เหมาะสมมากขึ้น
สำหรับบรรยากาศการซ้อมในแต่ละครั้ง จะมีเหล่าสมาชิกราชสกุลมาร่วมฝึกซ้อมจำนวนมากกว่า 200 คน จากหลากหลายราชสกุล อาทิ ยุคล, จิตรพงศ์, บริพัตร, ศุขสวัสดิ์, เทพหัสดิน, พึ่งบุญ, สังขทัต, มาลากุล, สนิทวงศ์, อมาตยกุล, กำภู, วรวรรณ, ชยางกูร, อาภากร, ทินกร, นวรัตน์, นันทวัน, ลดาวัลย์, ชมภูนุท, ชุมสาย, เกษมศรี, เทวกุล, จรูญโรจน์, กิติยากร, สิงหรา, ฉัตรชัย, ภาณุพันธ์, ปราโมช, เพ็ญพัฒน์, ดิศกุล, ไชยันต์, ประวิตร, ชุมพล, สวัสดิวัฒน์, กัลยาณวงศ์, สายสนั่น เป็นต้น