เมื่อวันที่ 17 ต.ค. พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศและบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เดินทางมาตรวจความพร้อมและซักซ้อมการยกพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
เผยพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศสูง 5.10 เมตร ยึดต้นแบบสมัย ร.6 และ ร.8
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
ในการนี้ กองกิจการในพระองค์ฯ นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงรับเชิญเสด็จฯไปในการนี้ในวันพุธที่ 18 ต.ค. ฤกษ์ระหว่างเวลา 17.19-21.30 น. กรมศิลปากรจึงได้ซักซ้อมระบบและทดสอบความมั่นคงแข็งแรงของอุปกรณ์ต่างๆ เป็นครั้งที่ 2 โดยจำลองฉัตรให้มีขนาดและน้ำหนักใกล้เคียงฉัตรองค์จริงมากที่สุด ใช้การวางสลิง แขวนฉัตรบริเวณ ลานด้านหน้าพระที่นั่งทรงธรรม หมุนสลิงผ่านรอกหมุนกว้านขึ้นไปข้างบน เมื่อวัดระยะความสูงของยอดพระเมรุมาศกับองศาแนวเอียงรวมกันประมาณกว่า 100 เมตร ซึ่งด้านบนจะมีผู้คอยประคองฉัตรและติดตั้งเชื่อมสลักป้องกันไม่ให้ฉัตรหมุน จนเสร็จสมบูรณ์
ฉัตร เป็นเครื่องสูง มีรูปร่างคล้ายร่มที่ซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ โดยชั้นบนมีขนาดเล็กกว่าชั้นล่าง เป็นเครื่องสูงที่ใช้ทั้งสำหรับแขวน ปัก ตั้ง หรือเชิญเข้ากระบวนแห่เป็นเกียรติยศ มีหลักฐานว่าไทยเราใช้ฉัตรเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง นพปฎลมหาเศวตฉัตรถือเป็นฉัตรสำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกตามโบราณขัตติยราชประเพณีแล้ว
วันเดียวกัน ที่ศูนย์สื่อมวลชน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันนี้กองอำนวยการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (กอร.พระราชพิธีฯ) แถลงพระราชพิธียกพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรประดับยอดพระเมรุมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยมีน.ส.ศุภร รัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมศิลปากร และนายพรพิทักษ์ แม้นศิริ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมให้ข้อมูล
ซึ่งลักษณะของการทำฉัตร จัดทำด้วยผ้าเบาทิ้งตัวสีขาวมีขลิบทองรวม 3 ชั้น โดยนำผ้า 3 ผืนมาล้อมโครงในการขลิบทองเส้นขลิบของฉัตรชั้นล่าง มีความหนาที่สุดและแขวนประดับด้วยจำปา 14 ช่อห้อยลงมาให้เกิดความสวยงาม ที่สำคัญที่บริเวณส่วนยอดของฉัตรดำเนินการตามแบบโบราณราชประเพณี คือนพปฎลมหาเศวตฉัตรต้องมีลักษณะเป็นทรงองค์ระฆังจากนั้นเป็นบัวกลุ่ม คั่นด้วยลูกแก้ว บัวกลุ่มต่อด้วยปลีปลาย เป็นโลหะทองแดง กลึงรับ เพื่อต่อสายล่อฟ้าด้วย อย่างไรก็ตาม การจัดสร้างครั้งนี้มีการใช้ตาข่ายพลาสติก ใส่ไว้ในโครงสร้างเพื่อเวลาที่ฉัตรเจอลมแล้วจะไม่ยุบช่วยทำให้การเคลื่อนไหวเป็นธรรมชาติและ ยังสามารถกลับมาอยู่ที่เดิมและไม่เป็นสนิม
"เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา และในวันนี้เวลา 17.00 น. จะมีการซ้อมยกฉัตร โดยใช้การวางสลิง แขวนฉัตรบริเวณลานด้านหน้าพระที่นั่งฝั่งทรงธรรม หมุนสลิงผ่านลอกหมุนกว้านขึ้นไปข้างบนเมื่อวัดระยะความสูงของยอดพระเมรุมาศกับองศาแนวเอียงรวมกันประมาณกว่า 100 เมตร ซึ่งด้านบนจะมีผู้คอยประคองฉัตรและติดตั้งเชื่อมสลักป้องกันไม่ให้ฉัตรหมุนจนเสร็จสมบูรณ์" รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าว
ที่มา : ข่าวสด