ผลวิจัยชี้เส้นก๋วยเตี๋ยวมหาภัย เติมสารกันบูดเกินมาตรฐานอื้อ
โดยเฉพาะเส้นเล็ก เส้นหมี่ เสี่ยงตับไตพัง เผยบะหมี่เหลือง-วุ้นเส้นปลอดภัยกว่า แนะผู้ประกอบการอย่าโลภผลิตขายข้ามจังหวัดจนต้องใส่สารกันบูดจำนวนมาก
เส้นก๋วยเตี๋ยวที่เป็นที่นิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลายนั้น ล่าสุดมีผลวิจัยออกมาว่า
มีการใช้สารกันบูดเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งส่งผลต่อตับและไตของผู้บริโภค เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่อาคารอิมแพ็ค คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เมืองทองธานี ในการประชุมวิชาการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 15 ประจำปี 2550 มีการนำเสนอผลการวิจัย “ความปลอดภัยในเส้นก๋วยเตี๋ยว ในเขตภาคอีสาน” ซึ่งดำเนินการวิจัยโดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุบลราชธานี ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เขต 14
ภญ.วรวิทย์ กิตติวงสุนทร ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุบลราชธานี กล่าวว่า
ก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารที่คนไทยนิยมบริโภค และเส้นก๋วยเตี๋ยวเป็นวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารได้หลายชนิด ทำให้มีการแข่งขันทางการตลาดสูง จากก๋วยเตี๋ยวส่วนใหญ่เป็นเส้นสดที่ค้างหลายวันไม่ได้ ผู้ประกอบการมีการเติมสารกันบูด หรือสารกันเสียเพื่อยืดอายุเส้นก๋วยเตี๋ยวทำให้ยืดระยะเวลาการจำหน่าย ซึ่งสารกันบูดที่นิยมใช้คือ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ถ้าร่างกายได้รับปริมาณสูงเป็นเวลานานจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตลดลง ดังนั้น คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานอาหารสากล (Codex) ได้กำหนดให้ใช้กรดเบนโซอิกในเส้นก๋วยเตี๋ยวได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม