หลังเกิดคดีอาชญากรรมใหญ่ๆ ที่สะเทือนขวัญประชาชน เสียงเรียกร้องให้ประหารมักดังกระหึ่มขึ้น ด้วยเหตุผลว่า เพื่อให้เกิดความหวาดกลัวไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง
ประหารชีวิต จำเป็น หรือ ต้องเลิก?
คำถามคือ "โทษประหาร" ทำให้เกิดความเกรงกลัว และไม่มีผู้กระทำผิดจริงหรือไม่
ก่อนอื่นเรามาดูก่อนว่า การลงโทษ ทำไปเพื่ออะไร ในทางทฤษฎีแล้ว การลงโทษมี 4 ประเภทด้วยกัน
1.การลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน อันนี้เป็นการลงโทษแต่ดั้งเดิม เป็นการลงโทษเพื่อให้สาสมแก่การกระทำและความแค้นของผู้ถูกกระทำ เป็นเรื่องของความรู้สึก การลงโทษประเภทนี้ มักจะเกิดขึ้นกับกฎหมายสมัยโบราณและกฎหมายเกี่ยวข้องทางศาสนา ในกฎหมายตาต่อตาฟันต่อฟัน เมื่อพรากชีวิต ชีวิตก็ต้องถูกพราก
ซึ่งต่อมาเมื่อโลกพัฒนาขึ้นและมีเรื่องสิทธิมนุษยชนมาเกี่ยวข้องมากขึ้น ทำให้การลงโทษเพื่อแก้แค้นลดลงไปในโลกสมัยใหม่ แต่มักได้รับความนิยมเพราะสอดคล้องกับความรู้สึกของผู้เสียหายอย่างมาก
2.การลงโทษเพื่อข่มขวัญยับยั้ง เกิดจากความเชื่อว่าคนกระทำความผิด เพราะไม่เกรงกลัวกฎหมาย การลงโทษจึงมีขึ้นเพื่อป้องกันการกระทำความผิด ซึ่งมีทั้งการยับยั้งเฉพาะเป็นรายๆไป หรือยับยั้งแบบทั่วไป โดยการลงโทษลักษณะนี้มุ่งหวังเพื่อให้ผู้ถูกลงโทษเกรงกลัว เข็ดขยาดต่อการกระทำผิดไม่ทำผิดซ้ำ ซึ่งย่อมหมายถึงผู้คนอื่นที่เห็นการลงโทษด้วย
การข่มขวัญหรือยังยั้งนี้ จะได้ผลต้องมีองค์ประกอบสี่ประการคือ แน่นอน ,รวดเร็ว,เสมอภาค และมีบทลงโทษที่เหมาะสม เพราะหากบทลงโทษเบาเกินไปก็จะไม่ได้ผล แต่ก็ปรากฏว่าในประเทศที่มีการลงโทษอย่างเฉียบขาดและรุนแรงก็ยังมีอาชญากรรมเกิดขึ้นอยู่ทั่วไปอยู่ดี การลงโทษลักษณะนี้เพียงแต่ทำให้เกิดความเกรงกลัว อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการยับยั้งได้
3.การลงโทษเพื่อตัดโอกาสการกระทำความผิด มีพื้นฐานความเชื่อในแนวคิดนี้ง่ายๆว่า ถ้าไม่มีอาชญากร ก็ไม่มีอาชญากรรม หรือ ถ้าอาชญากร ไม่มีโอกาส ก็จะไม่ก่ออาชญากรรม เอาจริงๆ ก็มีความคล้ายกับการลงโทษเพื่อยับยั้งข่มขู่ แต่วิธีนี้จะใช้วิธีเนรเทศอาชญกรให้ไปอยู่ในที่อื่น (ถ้านึกไม่ออกให้นึกถึงออสเตรเลีย อเมริกา หรือตะรุเตา) หรือการทำลายอวัยวะเพื่อตัดโอกาสในการประกอบอาชญากรรม
นั่นคือเรื่องในอดีต แต่ปัจจุบันก็คือการจำคุก แต่ก็เป็นการแยกเพียงชั่วคราว เพราะสุดท้ายก็ต้องกลับสู่สังคมอยู่ดี ซ้ำยังเกิดโอกาสที่จะโกรธแค้นสังคม เนื่องจากอาจเกิดความกดดันเมื่อสังคมไม่ยอมรับ
4.การลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟู ชื่อก็ชัดเจนว่า ไม่ได้ต้องการแก้แค้น หรือ ข่มขู่ แต่เชื่อว่ามนุษย์สามารถแก้ไขได้ และมีความเชื่อว่า การกระทำของมนุษย์ถูกกำหนดจากปัจจัยต่างๆ จนมีบุคลิกภาพที่บกพร่อง ดังนั้นควรพิจารณาจากปัจจัยสาเหตุ และแก้ไข วิธีนี้เน้นให้คนปรับตัว ซึ่งการลงโทษจะมีหลากหลายแต่ไม่เน้นความรุนแรง เช่น รอลงอาญา คุมประพฤติ แต่วิธีนี้ต้องอาศัยเวลา และโปรแกรมฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพ
แต่ก็มีผู้แย้งว่า การฟื้นฟูนี้ไม่เหมาะสมเพราะบางคนก็ไม่เหมาะกับการแก้ไขหรือแก้ไขไม่ได้นั่นเอง และขัดกับความรู้สึกของคนในสังคมโดยเฉพาะเหยื่อจากการกระทำความผิด
ก็ต้องมาดูกันว่า ที่สุดแล้วการลงโทษที่เราอยากได้นั้นเข้าข่ายแบบใดบ้าง ซึ่งก็ไม่มีอะไรที่ตายตัว เพราะหนึ่งการลงโทษอาจมีวัตถุประสงค์ทีหลากหลาย
แต่การลงโทษจำเป็นต้องมีองค์ประกอบอื่นด้วย มิเช่นนั้นก็เป็นเพียงเพื่อความสะใจ หากเราลงโทษรุนแรง แต่เลือกปฏิบัติ ก็ไม่มีผลอะไรกับการขู่ให้เข็ดหลาบ หรือถ้าเอาผิดผู้กระทำผิดจริงไม่ได้ ข้อที่ง่ายสุดแบบมนุษย์โบราณอย่างการแก้แค้นก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเลย หรือการฟื้นฟูแต่โปรแกรมฟื้นฟูไม่ครบรูปแบบ ปล่อยออกมาก่อนจะบำบัดเสร็จ อย่างนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากการปล่อยอาชญากรกลับสู่สังคม ดังนั้นการลงโทษจึงต้องมีองค์ประกอบที่หลากหลาย
ทีนี้มาดูกันว่าข้อถกเถียงระหว่างฝ่ายที่อยากให้มีโทษประหารกับไม่อยากให้มีโทษประหารเป็นอย่างไร
ฝ่ายเห็นด้วยให้เหตุผลดังนี้
1.ด้านประสิทธิภาพการลงโทษ เมื่อลงโทษวิธีนี้ก็ตัดโอกาสกระทำผิดซ้ำ และถ้าการลงโทษไม่แรงพอคนก็จะไม่เกรงกลัว เช่นที่ผ่านมามีอาชญากรรมรุนแรงหลายๆครั้งเพราะไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย รู้ว่าทำไปก็ไม่ถูกประหาร
2.ด้านเศรษฐกิจ การจำคุก หรือขังแทนประหารชีวิตทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าการประหาร โดยเชื่อว่า ภาษีที่เก็บจากคนบริสุทธิ์ไม่ควรถูกนำมาใช้เลี้ยงดูผู้กระทำผิดร้ายแรง
3.ด้านการชดเชยสิ่งที่สาสมกับการกระทำความผิด นอกจากนี้ยังเป็นบทเรียนให้กับผู้ที่จะกระทำผิดในอนาคตอีกด้วย
4.คนผิดลดหรือสละสิทธิส่วนบุคคลเอง เพราะเมื่อผู้กระทำผิดได้ละเมิดผู้อื่นอย่างร้ายแรง ชีวิตของเขาก็ไม่มีคุณค่าอีกต่อไป เท่ากับเขาได้สละสิทธิส่วนบุคคลโดยเฉพาะสิทธิการมีชีวิตอยู่ไปแล้ว นอกจากนี้การประหารชีวิตมีค่าเท่ากับการรักษาหรือปกป้องคุณค่าในชีวิตของผู้บริสุทธิ์
ขณะที่ฝ่ายคัดค้านเห็นว่า
1.เป็นการละเมิดโดยตรงต่อหลักคุณค่าชีวิตมนุษย์ การประหารก็คือการฆ่าเชิงสังคม โดยมีสังคมเป็นคนฆ่า การประหารเน้นที่การแก้แค้น และมักเกิดขึ้นในสังคมโบราณที่ยังไม่มีอารยะ เพราะเป็นเพียงการตอบสนองต่อความพึงพอใจเท่านั้น
2.เป็นการแก้ไขที่ไม่ถูกจุด ไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ใดๆ ว่า เมื่อประหารแล้วจะไม่มีการทำผิดประเภทนั้นๆ ซ้ำอีก นอกจากนี้มีสถิติว่าประเทศที่ยกเลิกโทษประหารกลับมีสถิติการก่ออาชญากรรที่ลดลง
ที่ แคนาดา เคยมีอัตราการฆาตกรรมต่อประชากร 100,000 คนลดจากตัวเลขสูงสุดที่ 3.09 ในปี 2518 ก่อนที่จะมีการยกเลิกโทษประหาร ลงมาเหลือ 2.41 ในปี 2523 และจากนั้นมาก็มีอัตราลดลงเรื่อยๆ และในปี 2546 ยี่สิบเจ็ดปีหลังจากยกเลิกโทษประหาร อัตราการฆาตกรรมอยู่ที่ 1.73 ต่อประชากร 100,000 คน ตํ่ากว่าปี 2518 ถึง 44% และถือว่าตํ่าสุดในรอบสามทศวรรษ
แม้ว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.0 ในปี 2548 แต่ก็ยังถือว่าเป็นอัตราที่ตํ่ากว่าตัวเลขตั้งต้น
3.ปัญหาเรื่องการลงโทษผิดตัว เรื่องการกล่าวหาผู้บริสุทธิ มีนักโทษจำนวนมากถูกประหารจากผลการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรม เพราะกระบวนการยุติธรรมโดยมนุษย์ย่อมมีข้อผิดพลาดได้ ซ้ำด้วยข้อกล่าวหาที่ คนที่ถูกลงโทษมักจะเป็นคนที่ด้อยโอกาสในทางสังคม เช่นไม่มีโอกาสจ้างทนายดีๆ หรือเข้าถึงความรู้ด้านกฎหมาย
4.การประหารทำให้ไม่มีการแก้ไขฟื้นฟู เพราะเมื่อประหารเสียแล้วก็ไม่สามารถแก้ไขได้ แม้ว่าเขาจะทำเพราะความผิดหรือความพลาดก็ตาม เมื่อประหาร เราจะเสียคนไปหนึ่งคน ซึ่งไม่รู้ว่าเขาอาจจะกลายมาเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ได้
นี่คือชุดข้อมูลที่ยังปะทะกัน โดยเฉพาะในสังคมไทย ยิ่งล่าสุดมีข้อมูลระบุว่าอีก 2 ปี 4 เดือน เราก็จะครบ 10 ปีที่ไม่มีการประหารจริง
หากถึงขั้นนั้นก็ต้องมีการแก้กฎหมายอาญาเพื่อยกเลิกโทษประหาร เชื่อได้เลยว่าถึงวันนั้นความเชื่อที่ต่างกันจะยิ่งทำให้ถกเถียงกันหนักกว่าที่เป็นอยู่มากนัก
ที่มา : Workpoint
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!