จากกรณีที่นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองง ได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2560 จากนั้นนายเนติวิทย์ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ถึงกรณีประเพณีถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า บริเวณลานพระราชวังดุสิต เนื่องในวันปิยมหาราช 23 ตุลาคมนี้ นายเนติวิทย์ กล่าวว่า "คุณต้องเปิดพื้นที่ให้คนที่ไม่อยากถวายบังคมแบบหมอบคลาน เปิดพื้นที่ให้เขายืนเคารพก็ได้ บางคณะยังบังคับกันอยู่ เราจะลงไปดูแล"
ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อ 15 ก.ค. 59 นายเนติวิทย์ ได้แสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่าต้องการจะท้าทายความรู้สึกของคณาจารย์ และนิสิตจุฬาฯทุกคนที่ร่วมอยู่ในพิธีดังกล่าว โดยการลุกขึ้นจากจุดที่จัดเตรียมไว้เพื่อรอการถวายบังคมที่มีกำหนดการไว้ล่วงหน้า ไปยืนโค้งคำรับพระบรมราชนุสาวรีย์ 2รัชกาลแทนการนั่งถวายบังคมเหมือนเพื่อนนิสิตคนอื่นๆที่พร้อมใจรอโอกาสสำคัญนี้ จนเกิดเป็นกระแสสังคมตามมาถึงการกระทำของนายเนติวิทย์เหมาะสมหรือไม่...?
จากแนวคิดยกเลิกการหมอบกราบของนายเนติวิทย์ เพียงกลุ่มเดียว ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนกระทบรั้วจามจุรี ที่ก่อตั้งมานับร้อยปี เพียงแค่เด็กคนเดียวจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามอำเภอใจได้อย่างไร จึงทำให้บรรดานิสิตเก่า-ใหม่ของจุฬาฯพาออกมาคัดค้านแนวคิดดังกล่าว เพื่อรักษาไว้ซึ่งจารีตประเพณีอันดี
ล่าสุดในวันที่24 พ.ค 60 เครือข่ายจุฬาฯ100ปี ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกคณะ ร่วมกับ เครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปปท.) และพสกนิกรผู้จงรักภักดี จะยื่นจดหมายเปิดผนึกพร้อมรายนามผู้สนับสนุนจำนวน 4,791 คน ต่ออธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง เสนอแนวความคิดเพื่อการธำรงรักษาอัตลักษณ์และการกราบถวายบังคมอันเป็นจารีตประเพณีที่ดีงามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซึ่งก่อนหน้านี้ เครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปปท.) และเครือข่ายจุฬา100ปี เผยแพร่ผ่านการรณรงค์ ล่ารายชื่อ "ร่วมรักษาจารีตประเพณีการหมอบกราบเพื่อถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์" ผ่านทาง Change.org อีกด้วย อย่างไรก็ตามต้องติดตามดูว่า การเคลื่อนไหวและพลังของนิสิตเก่า-ปัจจุบันของชาวจามจุรี จะยิ่งใหญ่ และสามารถล้มความคิดของนายเนติวิทย์ได้หรือไม่