"จากกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 เมษายน 2560 ระบุว่า ไทยมีผู้ต้องขังทั่วประเทศทั้งสิ้น 288,410 คน โดยเป็นผู้ต้องขังหญิง 39,337 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของผู้ต้องขังทั้งหมด ทั้งนี้ ไทยถือว่ามีจำนวนผู้ต้องขังหญิงมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย แต่เมื่อเทียบสัดส่วนผู้ต้องขังหญิง 60 ต่อประชากรแสนคน ไทยถือเป็นอันดับ 1 ของโลก"
เป็นข้อมูลที่ต้องตั้งคำถามว่า "เกิดอะไรขึ้นกับผู้หญิง" ซึ่งมีคำตอบในงานเสวนา "ผู้ต้องขังหญิง มายาคติ และโลกหลังกำแพง" และเป็นกิจกรรมในโครงการหลักสูตรอบรมสำหรับผู้บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา หรือโรลด์ (RoLD) จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (ทีไอเจ) ณ สำนักงานทีไอเจ อาคารจีพีเอฟ ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ
ดร.นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และที่ปรึกษาพิเศษสถาบันทีไอเจ กล่าวว่า ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้บอกว่าผู้หญิงเลวขึ้น แต่เพราะผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นกับการดูแลครอบครัว ซึ่งเมื่อมีปัจจัยความยากจน รวมถึงการขาดโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม พวกเธอจึงตัดสินใจฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งจากสถิติของกรมราชทัณฑ์พบว่าร้อยละ 80 ของผู้ต้องขังหญิง ได้กระทำความผิดเกี่ยวกับคดียาเสพติด
ขณะที่ นางสาวชลธิช ชื่นอุระ หัวหน้ากลุ่มโครงการส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติติอผู้กระทำผิด สถาบันทีไอเจ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เรือนจำเก็บข้อมูลผู้ต้องขังหญิงหลายคนและหลายช่วงอายุ พบว่าหลายคนไม่มีส่วนรู้เห็นในความผิด เพราะรับผิดแทนคนที่รัก อาทิ ยายอายุ 60 ปี ถูกจับข้อหามียาเสพติดในครอบครอง ทั้งที่ยานั้นเป็นของหลาน แต่ก็ยอมรับแทน
"ที่น่าตกใจคือ มีผู้หญิงหลายคนถูกคนรักที่เป็นชาวต่างชาติ หลอกใช้เป็นเครื่องมือขนยาเสพติด อาทิ ชายชาวต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่พบเป็นกลุ่มผิวสี มาทำทีแสดงความรักและชวนไปเที่ยวต่างประเทศ ปรากฏว่าเขาซ่อนยาเสพติดมาในกระเป๋าเดินทาง หรือซ่อนในห่อช็อกโกแลตที่ให้ผู้หญิงถือเข้าไป ก็เป็นความไม่รู้ที่เมื่อถูกจับได้ ส่วนใหญ่จะถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 25 ปี ก็สะท้อนว่าผู้หญิงเป็นผู้กระทำหรือเป็นเหยื่อกันแน่" นางสาวชลธิช ระบุ
เมื่อก้าวเท้าเข้าเรือนจำผู้หญิงต้องเผชิญกับความยากลำบากมากมาย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงมีพระดำริให้ก่อตั้ง โครงการกำลังใจ ในปี 2549 ต่อมาผลักดันในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติในปี 2553 ได้รับรองเป็นข้อกำหนดกรุงเทพ (The Bangkok Rules) ซึ่งปัจจุบันได้นำมาเป็นมาตรฐานในเรือนจำ 6 แห่ง และขยายเพิ่มเติมในปีนี้อีก 8 แห่ง อาทิ เรือนจำจังหวัดจันทบุรี กำแพงเพชร ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา จากเรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานที่กักขังในสังกัดกรมราชทัณฑ์ จำนวน 143 แห่งทั่วประเทศ
"นี่จะเป็นบ้านเปลี่ยนชีวิต หากเราให้โอกาสผู้ต้องขังได้พบกับสิ่งดีๆ ซึ่งก็ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์จะทำเพียงลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยองค์กรอื่นๆเข้ามาช่วย เพราะปัจจุบันมีนักโทษกว่า 3 แสนคน แต่ผู้คุมมี 1 หมื่นคน หากแยกฝ่ายธุรการออกไป ในแดนขังจริงๆจะมีสัดส่วนผู้คุม 1 ต่อผู้ต้องขัง 100 คน ไม่สามารถไปพัฒนาอะไรได้ การที่เรือนจำมุ่งฝึกฝนก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะไม่ออกไปกระทำผิดซ้ำ ตรงนี้ยังมีหลายปัจจัย อย่างกลับไปเจอสิ่งแวดล้อมเดิมๆ และโดยเฉพาะสังคมไม่เปิดโอกาส มองเหมารวมว่าเป็นคนไม่ดี ไม่รับเข้าทำงาน" ดร.นัทธีกล่าวทิ้งท้าย