เมื่อวันที่ 6 เมษายน ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านอำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เกี่ยวกับกรณีการห้ามจุดบั้งไฟในงานประจำปีของวัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ หมู่ที่ 6 ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยพระครูภาวนามหาโพธิ เจ้าอาวาสได้ทำหนังสือขออนุญาตการจุดบั้งไฟและพลุตะไลถึงนายอำเภอเมื่อวันที่ 23 มีนาคม
ต่อมาได้รับหนังสือตอบกลับจากนางสาวจิรภา ทองศิริ นายอำเภอศรีมโหสถว่าไม่สามารถอนุญาตได้ เนื่องจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ โดยห้ามการดำเนินการดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายอำเภอโดยหลักเกณฑ์ให้เป็นไปตามประกาศของจังหวัด อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดยังไม่ได้มีการทำประกาศดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ จึงไม่สามารถอนุญาตให้จุดบั้งไฟได้
นอกเหนือจากหนังสือตอบกลับของนายอำเภอศรีมโหสถ ยังมีการเปิดเผยเอกสาร "ด่วนที่สุด" จากนายสัญชัย ขจรเวหาสน์ ปลัดจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ส่งถึงนายอำเภอศรีมโหสถ เนื้อหาเป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือ ไม่อนุญาตให้จุดบั้งไฟในงานประเพณีดังกล่าว ลงวันที่ 10 เมษายน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขณะนี้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยชาวบ้านตั้งคำถามว่า จากหนังสือของกระทรวงมหาดไทย ที่ลงนามโดยนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งอ้างถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. มีความตอนหนึ่งว่า
"ให้จังหวัดกำชับอำเภอพิจารณาอนุญาตการจุดและปล่อยพลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควันหรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ตามหลักเกณฑ์การอนุญาตที่กำหนดไว้ในประกาศจังหวัดซึ่งออกตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 27/2559 ลงวันที่ 10 มิ.ย.59 โดยเคร่งครัด กรณีจังหวัดใดยังมิได้จัดทำประกาศจังหวัดดังกล่าว ห้ามมิให้นายอำเภอสั่งอนุญาตโดยเด็ดขาด" ซึ่งถูกนำมาอ้างในหนังสือของนายอำเภอและทางจังหวัดนั้น หากมีช่องทางให้พิจารณาอนุญาตโดยต้องจัดทำประกาศจังหวัด ถามว่าเหตุใดทางจังหวัดจึงไม่จัดทำประกาศดังกล่าวขึ้นมาก่อนหน้านี้ เนื่องจากเจ้าอาวาสได้ทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้าตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยมีกำหนดการจุดบั้งไฟในวันที่ 10 พ.ค.นี้
อีกทั้งงานบุญบั้งไฟของชาวอำเภอศรีมโหสถมีการจัดเป็นประจำทุกปี ต่อเนื่องมานานหลายชั่วอายุคน ถือเป็นงานใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของชาวปราจีนบุรีก็ว่าได้ จึงอยากสืบสานประเพณีดังกล่าวต่อไป เนื่องจากมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชาวศรีมโหสถ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพวน หรือลาวพวน ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 ตั้งรกรากสร้างครอบครัวกระทั่งเป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์ เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ประกอบด้วยคนหลากหลายอย่างในวันนี้