ฮือฮาไทยค้นพบกระเบนพันธุ์ใหม่ในลำน้ำแม่กลอง
คนไทยเจ๋งสุดค้นพบปลากระเบนน้ำจืดชนิดใหม่ของโลกตั้งชื่อ กระเบนแม่กลอง ด้านกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล WWF ชี้ชัดเป็นพันธุ์ใหม่ของโลกที่ปรากฏ มีลำตัวขนาดใหญ่สุด ถึง 60 ซม. สีน้ำตาลเข้มอมเหลือง พบอาศัยอยู่ในลำน้ำแม่กลอง เมืองกาญจนบุรี บ่งชี้ถึงระบบนิเวศน้ำดีเยี่ยม เร่งอนุรักษ์ด่วน
เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญปลาน้ำจืดของกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล World Wild Fund (WWF) แถลงข่าวว่า ได้มีการค้นพบปลากระเบนชนิดใหม่ในประเทศไทย โดยหลังจากนายกิติพงษ์ จารุธานินทร์ นักเลี้ยงปลาสวยงามชื่อดังของประเทศไทย ได้มอบปลากระเบน น้ำจืดที่พบครั้งแรกในบ่อเลี้ยงของชาวบ้านให้กับตน และ ดร.ไทสัน โรเบิร์ต นักวิจัยอาสาสมัครของสถาบันสมิท โซเนียน เพื่อทำการตรวจสอบเปรียบเทียบกับปลากระเบนชนิดอื่น ๆ ตั้งแต่ช่วงปี 47 จนได้ข้อสรุปว่า เป็นปลากระเบนน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก โดยได้ตั้งชื่อกระเบนน้ำจืดชนิดใหม่ของโลกที่พบนี้ ว่า กระเบนแม่กลอง (Himantura Kittipongi) โดยตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายกิติพงษ์ ผู้พบตัวอย่าง ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Natural History Bulletin of Siam Society ฉบับที่ 2005/53 เดือนมีนาคม ค.ศ. 2006
ดร.ชวลิตกล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบ ปลากระเบนแม่กลองอยู่ในวงศ์ของปลากระเบนธง หรือ Family Dasyatidae มีลักษณะที่แตกต่างจากปลากระเบนชนิดอื่น ๆ ก็คือ ด้านหลังจะมีสีน้ำตาลเข้มอมเหลือง รอบวงของลำตัว หาง ช่องหายใจ ช่องเหงือกและขอบด้านล่างของตัวเป็นสีคล้ำ ส่วนลำตัวมีขนาดใหญ่สุดประมาณ 60 ซม. และจำนวนของฟันซึ่งมีลักษณะเป็นซี่เล็ก ๆ บริเวณขากรรไกรล่างมีจำนวนมากถึง 14-15 แถวโดยทั่วไปปลากระเบนแม่กลองจะไม่อาศัยอยู่ในลำน้ำนิ่งและต้องการแหล่งน้ำซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อคอยดักจับปู ปลา กุ้ง หอยและสัตว์น้ำซึ่งอยู่ตามหน้าดินเป็นอาหาร โดยแทรกตัวอยู่ใต้ผิวดินท้องน้ำโผล่ขึ้นมาเพียงช่องหายใจกับลูกตา แล้วใช้จะงอยตรงปากจับเหยื่อและกดทับไว้ก่อนกินเป็นอาหาร
ดร.ชวลิตกล่าวต่อว่า แหล่งอาศัยของปลากระเบนชนิดนี้มีอยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย คือ แม่น้ำแม่กลองบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งการค้นพบปลากระเบนชนิดใหม่ในลำน้ำสายนี้ ยังเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพของน้ำในป่าตะวันตกได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปลากระเบนนั้นมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพของระบบนิเวศเป็นอย่างมาก และกระเบนแม่กลองยังออกลูกได้ครั้งละไม่มากนัก ประมาณ 1-2 ตัว ต่อครั้ง ต่อ 1-2 ปี และยังได้รับผลกระทบจากกิจกรรมเปลี่ยนระบบนิเวศ หรือสร้างมลพิษ เช่น การสร้างเขื่อนที่ไม่มีมาตรการการอนุรักษ์และการส่งเสริมด้านการวิจัยปลาน้ำจืดและปลาทะเลอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนทางนโยบาย ซึ่งในที่สุดจะต้องผลักดันให้กฎหมายที่เกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำชุมชนต่อไป.