"ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) ได้กล่าวถึง กรณีดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กรณีการเปิดปิดมหาวิทยาลัยตามอาเซียนว่า ขณะนี้ มก.ประสบปัญหามาก โดยเฉพาะวิทยาเขตในต่างจังหวัดซึ่งอากาศร้อนมาก ขณะเดียวกันการที่เราบอกว่าต้องการเด็กในประเทศอาเซียนจะมาเรียน ก็ไม่เห็นผลที่ชัดเจนนัก อีกทั้งนิสิตคณะครุศาสตร์มีปัญหาเรื่องการฝึกสอน คณะเกษตรศาสตร์ก็ไม่มีน้ำให้นิสิตทำการฝึกปฏิบัติในการเพาะปลูกในฤดูแล้งได้นั้น ตนเองเห็นด้วยและขอชื่นชมที่มีฝั่งของอธิการบดีออกมาเรียกร้องบ้าง ทปสท.เคยเสนอให้ยกเลิกมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ปี 2558 จนครั้งล่าสุดได้ทำวิจัยเรื่อง "การศึกษาผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนการเปิดภาคเรียนของสถาบันอุดมศึกษาภายหลังการเข้าสู่ประชาคมอาเฃียน"(รัฐกรณ์ คิดการ และคณะ.2559.)โดยผลการวิจัยพบว่า คณาจารย์บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา นักศึกษา และผู้เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษา(ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า ผู้ประกอบการ ร้อยละ 86.33 ไม่เห็นด้วยกับการเปิดภาคเรียนตามอาเฃียน ร้อยละ 62.33 เห็นว่าการเปิดภาคเรียนตามอาเฃียนส่งผลกระทบกับวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี สังคมและวัฒนธรรมของไทย
กรณีการเปิดภาคเรียนตามอาเฃียนคงไม่ต่างจากกรณี ม.44 ห้ามนั่งแค็ปและท้ายรถกระบะ ที่มีผู้ออกมาต่อต้านจำนวนมากเนื่องจากเป็นการออกกฎหมายไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไทยในชนบทส่วนใหญ่ที่ใช้รถกระบะในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ การเปิดภาคเรียนตามอาเฃียนก็เช่นกันเป็นการกำหนดนโยบายที่ขัดกับสภาพภูมิอากาศ การจัดการศึกษา ระบบราชการ วันหยุด ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวิถีชีวิตของคนไทย แม้จะมีผู้ออกมาเรียกร้องเป็นจำนวนมากและต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 ภายหลังครบหนึ่งปีที่นโยบายนี้เริ่มใช้ แต่กลับไร้เสียงตอบรับจากทปอ.ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย แล้วขอความร่วมมือไปยังสถาบันอุดมศึกษาทุกกลุ่มเพื่อใหปรับเปลี่ยนตาม มีเพียงถ้อยแถลงของศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า ประธาน ทปอ.ในขณะนั้น(22 มิถุนายน 2558) "ทปอ.ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อวิจัยระดับสถาบัน โดยจะสอบถามผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเกี่ยวกับการเปิดปิดภาคเรียนตามอาเซียน หากผลวิจัยปรากฏว่ามีข้อเสียมากกว่าข้อดี ทปอ.ก็มีวิจารณญาณเพียงพอที่จะปรับเปลี่ยน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน นักศึกษา" ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวทราบว่าทปอ.ได้ว่าจ้างให้ทีมคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้เป็นผู้ทำวิจัย ผู้รับทุนได้แจ้งผ่านเฟสบุ๊ค(เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559) ว่าไ้ด้ส่งมอบรายงานการวิจัยให้ทปอ.เจ้าของทุนแล้ว แต่จนถึงทุกวันนี้ทปอ.ยังไม่เคยเปิดเผยผลการวิจัยดังกล่าวเลย
ต่อปัญหาดังกล่าวอยากให้ ทปอ. พิจารณาว่าหากจะคงเปิดภาคเรียนในเดือนสิงหาคม(อ้างว่าตามอาเซียน) จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร 1. ปัญหาการเรียนการสอนที่ตรงกับช่วงเทศกาลวันหยุดเยอะ และสภาพอากาศร้อนในเดือนเมษายนของภาคเรียนที่สอง 2. ปัญหาวงรอบปีงบประมาณ และวงรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของอาจารย์ที่ไม่สอดคล้องกับการเปิดภาคเรียน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งงบประมาณพัฒนานักศึกษาและการประเมินอาจารย์ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ 3. ปัญหาการเกณฑ์ทหาร การสอบบรรจุครู การสมัครงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ช่วงเดือนเมษายน(ซึ่งนักศึกษาจบไม่ทัน) 4.ปัญหาการเปิดเรียนไม่ตรงกันระหว่างอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่งผลกระทบทั้งการเข้าศึกษาต่อ การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู และวิถีชีวิตครอบครัวจากการเปิด-ปิดภาคเรียนไม่ตรงกัน 5. แม้จะอ้างเปิดเดือนสิงหาคมตามอาเฃียนแต่ทั้งสิบประเทศในอาเฃียนก็เปิดภาคเรียนไม่ตรงกัน และยังมีระบบการศึกษา และหลักสูตรที่แตกต่างกัน รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้ก็มีระบบการศึกษาและการเปิด-ปิดภาคเรียนแตกต่างกันด้วย
ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ ทปอ.นำประเด็นปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ รวมทั้งข้อเสนอของรักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้าสู่ที่ประชุมในวันที่ 24 เมษายน 2560 ที่จะจัดประชุมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมขอให้เปิดเผยผลการวิจัยของทปอ. ต่อสาธารณะด้วย"