วันนี้ (5 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง การจัดวางที่นั่งรถตู้โดยสารสาธารณะ มีรายละเอียดระบุว่า ตามมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อเป็นการดําเนินการตามมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ สมควรกําหนด การจัดวางที่นั่งสําหรับรถตู้โดยสารให้มีทางออกไปยังประตูฉุกเฉินเมื่อมีเหตุจําเป็นหรือเกิดอุบัติเหตุ อาศัยอํานาจตามความในข้อ ๔ (๒) และ (๓) ของคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๕/๒๕๖๐เรื่อง มาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๐ และข้อ ๑ (๒) (ก) และ (ฎ) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ บรรดาระเบียบ ประกาศ หรือคําสั่งอื่นใดในส่วนที่กําหนดไว้แล้วในประกาศนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับที่กําหนดไว้ในประกาศนี้ ให้ใช้ประกาศนี้แทน
ข้อ ๒ ในประกาศนี้ "รถ" หมายความว่า รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน ๒ (จ) ที่มีลักษณะเป็นรถตู้โดยสาร ในประเภทการขนส่งประจําทางและไม่ประจําทาง
ข้อ ๓ การจัดวางที่นั่งผู้โดยสารของรถที่จดทะเบียนใหม่ ให้จัดวางได้ไม่เกิน ๑๓ ที่นั่ง โดยที่นั่งแถวหลังสุดต้องมีช่องทางเดิน ขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า ๒๐ เซนติเมตร เพื่อให้ผู้โดยสารใช้
เป็นทางออกฉุกเฉินด้านท้าย และเปิดออกจากตัวรถได้ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นหรือเกิดอุบัติเหตุ
ข้อ ๔ รถที่จดทะเบียนไว้แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ที่มีที่นั่งผู้โดยสารเกิน ๑๓ ที่นั่ง ให้จัดวางที่นั่งผู้โดยสารได้ไม่เกิน ๑๓ ที่นั่ง โดยต้องจัดวางที่นั่งให้เป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้
(๑) กรณีที่นั่งแถวหลังสุดเป็นที่นั่งคู่ ให้ถอดที่นั่งคู่ด้านซ้ายออก โดยจะนําที่นั่งเดี่ยวมาติด ด้านซ้ายสุดอีก ๑ ที่นั่ง หรือไม่ก็ได้ แต่ต้องมีช่องทางเดิน ขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า ๒๐ เซนติเมตร
เพื่อให้ผู้โดยสารใช้เป็นทางออกฉุกเฉินด้านท้าย และเปิดออกจากตัวรถได้ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นหรือ เกิดอุบัติเหตุ
(๒) กรณีที่นั่งแถวหลังสุดเป็นที่นั่งไม่เกิน ๓ ที่นั่ง หรือที่นั่งเกินกว่า ๓ ที่นั่ง ให้ปรับปรุง การจัดวางที่นั่งแถวหลังสุดให้มีช่องทางเดิน ขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า ๒๐ เซนติเมตร เพื่อให้
ผู้โดยสารใช้เป็นทางออกฉุกเฉินด้านท้าย และเปิดออกจากตัวรถได้ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นหรือเกิดอุบัติเหตุ
ในกรณีที่รถมีที่นั่งไม่เกิน ๑๓ ที่นั่งอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่มีช่องทางเดินเพื่อให้ผู้โดยสารใช้เป็น ทางออกฉุกเฉินด้านท้าย และเปิดออกจากตัวรถได้ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นหรือเกิดอุบัติเหตุ ให้ปรับปรุง
การจัดวางที่นั่งแถวหลังสุดให้มีช่องทางเดินเช่นเดียวกับรถตามวรรคหนึ่งด้วย
ข้อ ๕ ภายใต้บังคับข้อ ๓ และข้อ ๔ รถที่มีประตูทางขึ้นลงที่ด้านซ้ายและด้านขวาของ ห้องผู้โดยสาร และผู้โดยสารสามารถเปิดประตูเพื่อออกจากรถได้ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ให้ถือว่าประตูทางขึ้นลงที่ด้านขวาเป็นประตูที่ใช้เป็นทางออกฉุกเฉิน โดยจะมีช่องทางเดินเพื่อให้ผู้โดยสารใช้เป็น ทางออกฉุกเฉินด้านท้าย และเปิดออกจากตัวรถได้ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นหรือเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ก็ได้
ข้อ ๖ การจัดวางที่นั่งให้เป็นไปตามประกาศนี้ ที่นั่งต้องติดตรึงกับตัวรถอย่างมั่นคงแข็งแรง และมีความปลอดภัยในการใช้งาน
ข้อ ๗ ประตูที่ใช้เป็นทางออกฉุกเฉินด้านท้ายของรถ ต้องมีข้อความว่า "ทางออกฉุกเฉิน" เป็นตัวอักษรภาษาไทยสีแดงสะท้อนแสงมีความสูงไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร ติดอยู่เหนือบริเวณ
ที่เปิดปิดประตู หรือบริเวณขอบประตูด้านบนทางออกฉุกเฉินให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
ข้อ ๘ การจัดวางที่นั่งอาจจัดวางที่นั่งตามตัวอย่างแนบท้ายประกาศนี้ หรือจะจัดวางที่นั่ง แตกต่างไปจากตัวอย่างแนบท้ายประกาศนี้ก็ได้ แต่ต้องมีช่องทางเดินตามที่กําหนดไว้ในข้อ ๓ หรือข้อ ๔
ข้อ ๙ รถที่ดําเนินการตามข้อ ๔ หรือข้อ ๕ แล้ว ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือเจ้าของรถต้องนํารถเข้ารับการตรวจสภาพและแก้ไขรายการทางทะเบียน ณ สํานักงานขนส่ง กรุงเทพมหานครพื้นที่ สํานักงานขนส่งจังหวัด หรือสํานักงานขนส่งจังหวัดสาขา ที่รถนั้นอยู่ใน ความรับผิดชอบ ภายในกําหนดระยะเวลา ดังนี้
(๑) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารประเภทการขนส่งประจําทาง ในเส้นทางหมวด ๒ และ ๓ ภายในวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๐
(๒) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารประเภทการขนส่งประจําทาง ในเส้นทางหมวด ๑ และ ๔ ภายในวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๐
(๓) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารประเภทการขนส่งไม่ประจําทาง ภายในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๐
ข้อ ๑๐ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐