เผยชีวิต “ทัตตชีโว” จาก “รุ่นพี่ ม.เกษตร” ของธัมมชโย สู่รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

เผยชีวิต “ทัตตชีโว” จาก “รุ่นพี่ ม.เกษตร” ของธัมมชโย สู่รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย


ตกเป็นข่าวครึกโครมในสื่อตั้งแต่วานนี้ (22 ก.พ.) กรณีดีเอสไอออกมาแถลงว่า "พระทัตตชีโว" หรือ พระราชภาวนาจารย์ รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ปฏิเสธไม่ให้เข้าตรวจค้นภายในวัด กระทั่งต่อมา เครือข่ายศิษยานุศิษ์วัดพระธรรมดายทั่วโลก ได้เผยแพร่ข้อความในเฟซบุ๊กแบบรัวๆ ว่าพระรูปดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิเสธให้เข้าตรวจค้น หากแต่เป็นกลุ่มศิษย์เองต่างหาก เนื่องจากไม่วางใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่

พระทัตตชีโวผู้นี้ เป็นใคร มาจากไหน ?

ประวัติของบุคคลดังกล่าว ตามที่ปรากฏในสื่อของวัดพระธรรมกาย ระบุว่า พระทัตตชีโว เพิมมีชื่อว่า "เผด็จ ผ่องสวัสดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2483 ที่จังหวัดกาญจนบุรี จบการศึกษาด้านกสิกรรมและสัตวบาลบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนและ Diploma of Dairy Technology จาก Hawkesbury College, Australia

อุปสมบทเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ณ พัทธสีมา วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ โดยมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ (ช่วง วรปุญโญ ป.ธ.9) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพวรเวที เป็นพระอุปัชฌาย์

ได้รับฉายาว่า ทตฺตชีโว แปลว่า ผู้ถวายชีวิตแล้วแด่พระศาสนา

ต่อมาได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระภาวนาวิริยคุณ เมื่อปี พ.ศ. 2535

และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระราชภาวนาจารย์ วิ. ในปี พ.ศ. 2556

พระทัตตชีโว ยังเขียนบอกเล่าถึงเรื่องราวของตัวเองไว้ในมุทิตาสักการะในวาระ 60 ปีทองของการสร้างบารมี 21 ธันวาคม พุทธศักราช 2543 และจากบันทึกที่ท่านเขียนไว่ใหนังสือ "เดินไปสู่ความสุข" ตีพิมพ์เมื่อปี 2512 ชื่อเรื่อง "ผจญมาร"

มีเนื้อหาส่วนหนึ่งดังนี้

"...เมื่ออาตมามีอายุย่างเข้าวัยรุ่นนั้น อาตมารักการฝึกสมาธิ(Meditation)มาก เริ่มต้นมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2497 - 2498 ขณะเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยม 4 แรกทีเดียวเป็นเพราะได้อ่านวิธีการฝึกสมาธิในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งรจนาโดยพระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อประมาณ พ.ศ.900 ที่เจอเพราะรักการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจนั่นเอง อาตมาอ่านหนังสือทุกประเภท อ่านดะไปหมด อ่านจนหมดห้องสมุดประจำจังหวัดกาญจนบุรี

พออ่านคัมภีร์วิสุทธิมรรคแล้วก็อยากฝึกสมาธิ แต่ฝึกเองไม่ได้ผล จึงดั้นด้นค้นหาอาจารย์สอนสมาธิ ให้บังเอิญไปพบอาจารย์ที่ฝึกสมาธิเพื่อประโยชน์ทางอิทธิฤทธิ์เข้าก่อน จึงเลยเป็นไปตามฤทธิ์หนุ่ม คือ ฝึกวิชาหนังเหนียว รูดโซ่ ลุยไฟ สะเดาะกลอน สารพัด ใจมันอยากจะเป็นอย่างขุนแผนกับเขาบ้าง ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าวิชาเหล่านี้เป็นวิชามาร คิดว่าเป็นวิชาพระ เพราะมีคาถาประกอบเป็นบทสรรเสริญพระพุทธคุณบ้าง บทสรรเสริญพระโมคคัลลาน์อัครสาวกผู้มีฤทธิ์บ้าง...อาตมาคิดแต่ว่า จะเอาวิชานี้ไปทำประโยชน์ให้ประเทศชาติเท่านั้น ยิ่งตอนหลังเกิดหนังเหนียว อยู่ยงคงกระพันขึ้นมาจริงๆ ก็เลยหลงคิดว่ามาถูกทางแล้ว...

...อย่างไรก็ดี บุญเก่าของอาตมาคงมีอยู่ไม่น้อย จึงทำให้ได้พบหลวงพ่อธัมมชโย ( พระเทพญาณมหามุนี เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย) เสียก่อนที่จะหลงทางเลยเถิดไปไกล... ซึ่งตอนนั้นยังเป็นนิสิตรุ่นน้องปี 4 อาตมาจำได้แม่นยำว่าเป็นวันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2509 ซึ่งเป็นวันลอยกระทง ..."

ความสัมพันธ์ระหว่างพระทัตตชีโว และพระธัมมชโย ก็คือ รุ่นพี่รุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวคือ นายไชยบูลย์ หรือธัมมชโย เป็นรุ่นน้อง แต่อยู่คนละคณะวิชา เนื่องจากนายไชยบูลย์ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ ขณะที่นายเผด็จเรียนด้านกสิกรรมแต่มีความสนใจตรงกันในด้านศาสนา

 


เนื้อหาในข้อเขียนดังกล่าว ยังระบุถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการ "ลองวิชา" กล่าวคือ วันหนึ่ง นายเผด็จอยากจะลองวิชา "ดับพิษน้ำมัน" จึงนัดให้เพื่อนๆ มาดูกัน โดยทุกครั้งเมื่อเอามือจุ่มลงไปในกระทะกล้วยทอดที่มีน้ำมันร้อนๆ ท่านเคยเอามือจุ่มลงไปได้โดยมือไม่พองไม่ร้อน แต่สังเกตว่าครั้งใดที่มีนายไชยบูลย์อยู่ด้วย พอยื่นมือเข้าไปใกล้ๆไอร้อน ก็รู้สึกร้อนจัดจนต้องหดมือกลับ ทำให้สงสัยว่านายไชยบูลย์ต้องมีอะไรดี ต่อมาคิดที่จะประลองฤทธิ์โดยเสกปรอทใส่มือคุณไชยบูลย์ ก็ทำไม่สำเร็จ ภายหลังจึงทราบว่าคุณไชยบูลย์ เป็นนักปฏิบัติธรรมของสำนักวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และฝึกจนบรรลุธรรมกาย
นายเผด็จเชื่อว่า แม้แต่อาจารย์ผู้ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือในวิชามารนั้น เมื่อมีการทดลองวิชาทั้งหมดต่อหน้าคุณไชยบูลย์ ก็แสดงฤทธิ์ไม่ออก วิชาทั้งหลายก็เสื่อมหมดไม่มีอิทธิฤทธิ์อย่างใดเลย สู้อำนาจวิชชาธรรมกายไม่ได้

นับแต่นั้นมา นายเผด็จก็ติดตามนายไชยบูลย์ไปศึกษาธรรมปฏิบัติกับอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ในวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ต่อมาได้เป็นกำลังสำคัญในหมู่คณะที่ร่วมบุกเบิกสร้างวัดพระธรรมกาย

นอกจากนี้ เมื่อวัดพระธรรมกายถูกตั้งคำถามจากสังคมอย่างหนักหน่วง พระทัตตชีโวจะเป็นผู้มีบทบาทในการตอบข้อซักถาม แก้ต่าง และชี้แจง ไม่ใช่พระธัมมชโย ดังเช่นเมื่อ พ.ศ. 2541 ที่นายอาคม เอ่งฉ้วน รมช. ศึกษาธิการ พร้อมกองทัพนักข่าวเดินทางเข้าไปสนทนาที่วัด ซักถามประเด็นต่างๆมากมาย นับเป็นกุนซือคนสำคัญของวัดพระธรรมกายตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

บทบาทและการวางตัวของพระทัตตชีโวนี้ ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล นักวิชาการด้านศาสนาเคยวิเคราะห์ไว้ในผลงานวิจัยที่ได้รับทุนจากศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเริ่มดำเนินงานในปี 2538 แล้วเสร็จในปี 2540 โดยระบุถึงพระทัตตชีโวไว้ว่า มีบทบาทเป็นผู้นำด้าน "บริหาร" ภาพลักษณ์มีความแตกต่างจากพระธัมมชโยอย่างชัดเจน กล่าวคือ บุคลิกหนักแน่น แบบนักเลง คอยรับแขก และแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรียกศิษย์วัดด้วยสรรพนามว่า "เอ็ง" รูปร่างใหญ่ เสียงห้าว เข้าถึงง่ายกว่าพระธัมมชโยซึ่งมีภาพความ "ศักดิ์สิทธิ์" ยากที่จะโต้เถียง ต่างจากพระทัตตชีโว ที่สามารถถกกันในเรื่องงานได้ดร. อภิญญา ยังชี้ให้เห็นถึงการ "แบ่งงานกันทำ" แบบองค์กรสมัยใหม่ขนาดใหญ่ ดังเช่นวัดพระธรรมกายแห่งนี้

 


เผยชีวิต “ทัตตชีโว” จาก “รุ่นพี่ ม.เกษตร” ของธัมมชโย สู่รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย


เผยชีวิต “ทัตตชีโว” จาก “รุ่นพี่ ม.เกษตร” ของธัมมชโย สู่รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย


เผยชีวิต “ทัตตชีโว” จาก “รุ่นพี่ ม.เกษตร” ของธัมมชโย สู่รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย


Cr.matichon

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์