"ผอ.รพ.วชิระภูเก็ต" ระบุ "ชายสูงวัย" ถูกแมวข่วนแผลติดเชื้อ เป็นโรคแบคทีเรียกินเนื้อ ชี้เกิดในคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ อาการยังน่าห่วง
จากกรณีผู้ที่ใช้เฟซบุ๊กชื่อ "อยากเริ่มต้นใหม่กับใครสักคน" ได้โพสต์ภาพขาขวา มีบาดแผลฉกรรจ์พร้อมกับระบุว่า "เตือนทุกคนนะค่ะ ที่เห็นโพสต์นี้ ถ้าคุณหรือคนในบ้านคุณถูกแมวข่วน แค่โดนข่วน ให้คุณรีบไปหาหมอฉีดยาทันที ไม่งั้น คุณอาจติดเชื้อใต้ผิวหนังนี้ป่ะ โดนข่วนไม่ได้โดนกัดเลย ไม่ได้เอะใจอะไร ปล่อยไว้ 3 วันเป็นขนาดนี้ หมอบอกถ้ามาช้ากว่านี้สองวันต้องตัดขาทิ้งเลยนะค่ะ" และมีผู้เข้าไปการแชร์ภาพและข้อความดังกล่าวกันในโลกโซลเชียล
ล่าสุด จากการประสานไปยังผู้บริหารของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เพื่อขอเข้าเยี่ยม อาการของชายสูงวัย อายุ 63 ปี (นายวีระ พันทิพย์) ผู้ป่วย มีอาชีพขับเรือ ซึ่งถูกแมวข่วนดังกล่าว ซึ่งยังคงพักรักษาตัวอยู่ภายในหอผู้ป่วยรวม ตึกศัลยกรรมชายชั้น 3 ของโรงพยาบาลฯ และมี น.ส.รุ่งนภา งามจันทร์ ผู้โพสต์ข้อความซึ่งเป็นลูกสะใภ้คอยดูแล เปิดเผยว่า พ่อสามีถูกแมวข้างบ้านข่วนที่หน้าแข้ง-น่องขวาเป็นทางยาวและมีเลือดไหลออกมาเล็กน้อย ขณะเข้าไปห้ามแมวที่กัดขึ้น เมื่อช่วงเย็นวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้พาหาหมอหรือฉีดวัคซีนในทันที เพราะไม่คิดว่าจะมีอันตราย ต่อมาในวันที่ 17 ม.ค.พบว่ารอยข่วนที่บริเวณหน้าแข้งเริ่มบวมและมีไข้ แต่ยังคิดว่าคงไม่เป็นอะไรมาก กระทั่งวันที่ 18 ม.ค.อาการก็ไม่ดีขึ้น จึงได้นำมาโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เพื่อให้แพทย์ดูอาการ และแพทย์ได้ทำการผ่าตัดในคืนเดียวกัน เนื่องจากบาดแผลติดเชื้อรุนแรง จึงต้องตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวออก โดยแพทย์ระบุว่าติดเชื้อใต้ผิวหนัง ต่อจากนั้นในวันที่ 21 ม.ค. รอยข่วนที่บริเวณน่องขวาเริ่มมีอาการบวม แพทย์จึงต้องผ่าตัดเอาเนื้อที่ติดเชื้อออกอีก และต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล
นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต พร้อมด้วย นพ.วีรศักดิ์ หล่อทองคำ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ และนางวันดี โกยกิจเจริญ รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อชี้แจงสาเหตุของโรคและภาพรวมการดำเนินการรักษาที่เกิดขึ้น โดย กล่าวว่า ประวัติผู้ป่วยก่อนเข้ารับการรักษาในเบื้องต้นถูกแมวข่วนมา 7 วัน โดย 3 วันก่อนจะมาโรงพยาบาล คนไข้มีอาการปวดแสบร้อน ตึงและเริ่มมีน้ำเหลืองออกมา ก็เลยเดินทางมาในวันที่ 18 แพทย์ที่ทำการรักษาซึ่งเป็นแพทย์ด้านศัลยกรรม โดยได้ทำการผ่าตัดเอาแค่หนองออก ก่อนที่พบข้อสงสัยว่าน่าจะเป็น "โรค Nacrotyzing Pascilitis หรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อ" ซึ่งเป็นการติดเชื้อแบคที่เรียอย่างรุนแรง ลักษณะของเชื้อชนิดนี้ คือ ชอบกินไปที่ผิวหนัง กล้ามเนื้อ ไขมันใต้ผิวหนัง และเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อก่อนจะเข้าสู่กล้ามเนื้อ
หลังจากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคข้างต้น ในช่วงค่ำของวันเดียวกัน (วันที่ 18 ม.ค.) ก็รีบนำเข้าห้องผ่าตัดใหม่ทันที โดยทำการตัดเนื้อที่ตายออกเพิ่มเพราะเชื้อชนิดนี้ มีสารพิษทำลายเนื้อเยื่อรุนแรง เนื่องจากหากปล่อยไว้เชื้ออาจจะแพร่กระจายจนอาจจะติดเชื้อในกระแสเลือดหรือต้องตัดขาทิ้ง หลังจากนั้นให้ยาฆ่าเชื้อ ให้สารน้ำต่างๆ เพื่อประคับประคอง ทั้งนี้พบว่า ผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ และโรคไต ซึ่งเป็นภาวะหนึ่งที่ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำลงและเป็นโรคนี้ได้ง่าย ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มกราคม หมอพบว่าเชื้อลุกลามจากเท้าขึ้นมาที่ต้นขาจึงตัดสินใจเปิดแผลอีกครั้ง และทำการตัดเนื้อที่ตายออกทิ้งให้เนื้อใหม่ค่อยๆ สร้างขึ้นมา
"ขณะนี้อาการของผู้ป่วยยังอยู่ในขั้นที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นเชื้อที่รุนแรงมากเป็นพิเศษ ประกอบกับบาดแผลเกิดจากแมวข่วนด้วย ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตโดยไม่ต้องการออกซิเจนเข้ามาแทรก แต่ทางทีมแพทย์และพยาบาลก็ช่วยกันรักษาอย่างเต็มที่ จากที่ประเมินยังมีความหวังที่จะหายได้โดยไม่ต้องตัดขา แต่อาจจะต้องใช้เวลานาน หลังจากแผลดีขึ้นก็จะทำการเอาเนื้อเยื่อจากส่วนอื่นของร่างกายมาซ่อมแซม ในระยะสั้นหากดีขึ้นอาจต้องใช้เวลา 1- 2 สัปดาห์ ส่วนระยะเวลาที่แผลจะหายและกลับบ้านได้นั้นน่าจะประมาณ 1 เดือน เป็นอย่างต่ำ ซึ่งแพทย์จะต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด และอาจจะมีการผ่าตัดเพิ่มเติมหากพบมีเนื้อตายเพิ่ม"
นพ.เฉลิมพงษ์ กล่าวด้วยว่า โรคแบคทีเรียกินเนื้อนั้น พบค่อนข้างน้อย ความเสี่ยงที่เกิดโรคนี้ส่วนใหญ่พบในคนที่มีภูมิต้านทานต่ำหรือภูมิคุ้มกันผิดปกติ โดยคนทั่วไปซึ่งมีภูมิคุ้มกันปกติ ไม่ว่าจะโดนสัตว์ข่วนกัด หรือวัตถุทิ่มตำแผลจะหายเองตามธรรมชาติ แต่คนที่มีภูมิต้านทานต่ำหรือภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือมีการทานยาสเตียรอยด์ ก็อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้บ่อยกว่า ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดให้สังเกตอาการ เมื่อมีแผลไม่ว่าจุดใดก็ตาม ทั้งแผล สัตว์กัด หกล้ม ตำปูตำ หรือฉีดยา แล้วแผลมีอาการปวดบวมแดงอย่างรวดเร็ว มีการลุกลาม ต้องรีบมาพบแพทย์ หากมาเร็วเท่าไหร่ความสูญเสียจะลดน้อยลง แต่หากมาช้าก็อาจถึงชีวิตได้
ด้าน นพ.วีรศักดิ์ หล่อทองคำ กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากเตือนถึงคนที่เลี้ยงสัตว์ที่โดนกัดอย่าคิดว่าไม่เป็นไร หากถูกกัดแล้วพบว่าแผลมีการฉีกขาดแสดงว่า เชื้อโรคอาจเข้าไปในผิวหนังได้ สิ่งที่ต้องปฏิบัติในทันที คือ 1.ต้องดูแลทำความสะอาดแผล 2 .ต้องให้ย่าฆ่าเชื้อ สำหรับแผลถูกสัตว์กัดจะไม่เหมือนกับแผลมีดบาดหรืออื่นๆ เพราะจะมีเชื้อจากปากสัตว์เป็นเชื้อแบคทีเรียแบบไม่มีออกซิเจน จึงต้องให้ยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อไม่ให้เชื้อลุกลาม และ 3. การให้วัคซีน อย่าคิดว่าแมว สุนัขตัวเล็กๆ กัดจะไม่มีเชื้อโรค