เอาแล้ว ตำนานเวียงแก้ว! จากแผนที่ แต่พบของจริง!

เอาแล้ว ตำนานเวียงแก้ว! จากแผนที่ แต่พบของจริง!

กำลังอยู่ในกระแสความสนใจของคนไทยทั้งประเทศ เมื่อสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ เผยแพร่ข้อมูลการค้นพบ "เวียงแก้ว" วังหลวงนครเชียงใหม่ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังการขุดค้นตามโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้วอย่างต่อเนื่องมานานนับเดือน หลักฐานทางโบราณคดีค่อยๆ ถูกเปิดเผยขึ้นท่ามกลางการติดตามลุ้นของคนท้องถิ่น ไม่เพียงความสำคัญในด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ หากแต่ยังส่งผลในแง่บวกต่อการผลักดันเชียงใหม่สู่ "มรดกโลก" ซึ่งภาครัฐกำลังเร่งเดินหน้าอย่างเข้มข้น

สำหรับจุดเริ่มต้นที่นักโบราณคดีมีความพยายามจะค้นหาที่ตั้งของเวียงแก้ว เกิดจาก "ตำนาน" บอกเล่าสืบมาจากรุ่นสู่รุ่น ว่าคำดังกล่าวเป็นชื่อของ "คุ้ม" หรือวังหลวงของกษัตริย์ล้านนาแต่เก่าก่อน ทว่าไร้ซึ่งหลักฐานที่ตั้งอย่างแน่ชัด กระทั่งพบว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการทำแผนที่นครเชียงใหม่ ระบุ พ.ศ.2436 ซึ่งมีข้อความกำกับพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมบริเวณหนึ่งว่า "เวียงแก้ว" อยู่บริเวณใจกลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของทัณฑสถานหญิงเดิม

"เวียงแก้วเป็นชื่อวังหลวงของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ปรากฏในตำนานและคำบอกเล่า แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าเคยตั้งอยู่ตรงไหนกันแน่ กระทั่งมีการพบข้อความบนแผนที่นครเชียงใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ระบุชื่อเวียงแก้ว แต่ก็เป็นเพียงการบอกขอบเขตกว้างๆ บนพื้นที่สี่เหลี่ยม 3 บล็อก จึงต้องพิสูจน์ว่าลึกลงไปใต้ผืนดิน จะมีวังหลวงที่ถูกซ้อนทับอยู่หรือไม่?" ยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดีประจำสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ หนึ่งในทีมขุดค้นอธิบาย

ด้วยเหตุนี้ การขุดค้นจึงเริ่มต้นขึ้น ด้วยเป้าหมายเพื่อค้นหาแนวกำแพงเวียงแก้ว และสถาปัตยกรรมภายใน โดยใช้ผลจากการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเลือกจุดดำเนินการ เริ่มจากด้านนอกกำแพงทัณฑสถานหญิงเดิมทางด้านทิศตะวันออก และบ้านพักผู้บัญชาการเรือนจำเดิม รวมถึงทางด้านทิศตะวันตกของ "ศาลเจ้าพ่อข้อแขนเหล็ก" ชั้นดินแต่ละชั้นถูกขุดลอกวันแล้ววันเล่า เวียงแก้ว02-1

ในที่สุดก็พบแนวอิฐขนาดใหญ่ในระดับต่ำกว่าผิวดินปัจจุบันประมาณ 40 เซนติเมตร เป็นระดับการใช้งานในช่วงกลางสมัยรัตนโกสินทร์ ในห้วงเวลาที่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่จาก "คุ้มหลวง" เป็น "เรือนจำมณฑลพายัพ" ไม่เพียงเท่านั้น ยังพบโบราณวัตถุอื่นๆ อาทิ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยเนื้อกระเบื้องเขียนลวดลายสีฟ้าใต้เคลือบ และเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน เป็นต้น

เน้นย้ำการ (เคย) มีอยู่ของผู้คนในพื้นที่ดังกล่าว

ไม่นานก็พบหลักฐานเพิ่มเติม ที่ยิ่งตอกย้ำให้เห็นภาพในอดีตแจ่มชัดยิ่งขึ้น นั่นคือ แนวฐานรากกำแพง ขนาดกว้างเฉลี่ย 1.8 เมตร ทอดตัวเป็นแนวยาวผ่ากลางพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เดิมตามแนวทิศตะวันออกถึงตะวันตก มีลักษณะทะแยงมุมไปทางทิศเหนือเล็กน้อย เมื่อนำลักษณะการวางตัวของแนวอิฐที่พบมาวิเคราะห์ร่วมกับผลจากการศึกษาทางธรณีฟิสิกส์ และการซ้อนทับภาพถ่ายทางอากาศกับแผนที่โบราณเมืองเชียงใหม่ ฉบับปี พ.ศ.2436 ก็พบว่ามีความสอดคล้องกัน นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าแนวฐานรากกำแพงนี้ คือส่วนหนึ่งของแนวกำแพงเวียงแก้ว

กล่าวได้ว่า ในที่สุดนักโบราณคดีก็พบวังหลวงที่สาบสูญ ทว่ายังอยู่ในความทรงจำ ตำนาน และการจดบันทึกในแผนที่เก่าแก่

สร้างความตื่นเต้นให้ผู้คนโดยเฉพาะชาวเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง

ย้อนกลับไปก่อนการค้นพบเวียงแก้วจากการขุดค้น

วรชาติ มีชูบท นักค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ชื่อดัง เคยเขียนถึงเรื่องราวของเวียงแก้วไว้ในวารสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2555 โดยอ้างถึง "บันทึกความเห็น เรื่องคุ้มหลวงและหอคำที่เมืองน่าน" ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงอธิบายเรื่อง "คุ้มหลวง" และ "หอคำ" ในมณฑลภาคพายัพไว้ว่า

สถานที่ซึ่งเรียกตามภาษาไทยเหนือว่า "คุ้ม" นั้น ตรงกับคำไทยใต้เรียกว่า "วัง" คุ้มหลวง ก็คือวังหลวง ความหมายว่าวังอันเป็นที่สถิตของเจ้าผู้ครองเมืองสถานที่ซึ่งไทยเหนือเรียกง่า "หอคำ" นั้น ตรงกับคำไทยใต้เรียกว่า "ตำหนักทอง" คือเรือนที่อยู่ของเจ้าผู้ครองเมือง สร้างไว้ในบริเวณคุ้มหลวง เป็นเครื่องประดับเกียรติยศ เวียงแก้ว08

วรชาติระบุต่อไปว่า ที่เมืองเชียงใหม่นั้นแปลกกว่าเมืองอื่น ด้วยไม่ปรากฏนาม "คุ้มหลวง" หรือ "คุ้มแก้ว" หากแต่เรียกที่พำนักของผู้ครองนครว่า "เวียงแก้ว" เหตุไฉนจึงเรียกคุ้มหลวงว่า "เวียงแก้ว" นั้น ในชั้นนี้ยังไม่สามารถสืบหาหลักฐานที่แน่ชัดได้ นอกจากนี้ ยังมีการค้นคว้าเอกสาร "พระดำรัสตรัสเล่า" ที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงเล่าประทาน คุณแสงเดือน ณ เชียงใหม่ ว่า เวียงแก้ว เป็นเนื้อที่สี่เหลี่ยมจรดถนนทุกทิศเป็นมรดกของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้านครเชียงใหม่ที่ 8 เจ้าอินทวโรรสฯ ได้ยกทูลเกล้าฯ ถวายให้เป็นเรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ ในด้านทิศใต้ ส่วนด้านทิศเหนือ เจ้าอินทวโรรสฯ ได้จัดทำเป็นสวนสัตว์ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งได้ยกให้ข้าบริพาร คือ พระญาติๆ หลานเหลน และเหล่าเสนาของท่าน เช่น หมื่น ท้าว พญาทั้งหลายในสมัยนั้น

ภายหลังยุบเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เรือนจำมณฑลพายัพก็ได้แปรสภาพมาเป็นเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ และเมื่อมีการย้ายเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ออกไปอยู่ในที่ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ริมถนนโชตนาแล้ว เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ก็ได้แปรสภาพมาเป็นทัณฑสถานหญิงจังหวัดเชียงใหม่

ส่วนพื้นที่ที่เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์จัดเป็นสวนสัตว์นั้นก็กลายสภาพมาเป็นบ้านพักข้าราชการส่วนราชการคลังจังหวัดเชียงใหม่ กับเป็นคลังสินค้าของสำนักงานยาสูบเชียงใหม่ และพื้นที่ด้านทิศตะวันออกที่ยกให้บริพารนั้นก็คงเป็นบ้านพักอาศัยของเชื้อวงศ์เจ้านายและวงศ์วานว่านเครือของเหล่าบริพารในเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์สืบมาจนถึงทุกวันนี้

นี่คือความซับซ้อนของการใช้พื้นที่ในหลากยุคสมัย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายสำหรับนักโบราณคดี

สำหรับการดำเนินการต่อจากนี้ คือ การขุดค้นบริเวณศาลเจ้าพ่อข้อแขนเหล็ก เพื่อพิสูจน์อายุสมัยเพิ่มเติมว่าเวียงแก้วที่ค้นพบนี้ เก่าแก่ไปจนถึงสมัยพญามังรายดังที่หลายคนคาดหวังให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่? หรือเป็นเพียงวังหลวงเก่าที่มีการอยู่อาศัยในยุคร่วมสมัยรัตนโกสินทร์เป็นหลัก

แต่ไม่ว่าคำตอบจะออกมาเป็นเช่นไร ก็ยังคงเป็นการค้นพบครั้งสำคัญต่อวงการโบราณคดีและประวัติศาสตร์ล้านนาที่สามารถต่อยอดไปสู่การอนุรักษ์และพัฒนาในอนาคตอันใกล้


เอาแล้ว ตำนานเวียงแก้ว! จากแผนที่ แต่พบของจริง!


เอาแล้ว ตำนานเวียงแก้ว! จากแผนที่ แต่พบของจริง!


เอาแล้ว ตำนานเวียงแก้ว! จากแผนที่ แต่พบของจริง!


ที่มา - มติชน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์