สยามมกุฎราชกุมาร สืบพระราชสันตติวงศ์ สานพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชน
พระอิสริยยศ "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" คือ พระอิสริยยศของสมเด็จพระบรมราช โอรส ผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราช ทานอภิเษกสถาปนาให้เป็นรัชทายาทสำหรับสืบพระราชสันตติวงศ์
ตามประวัติศาสตร์ไทยก่อนพุทธศักราช 2429 นั้น มีเพียงตำแหน่ง "พระมหาอุปราช" เป็นตำแหน่งสำหรับสถาปนารัชทายาทในมัธยมประเทศชมพูทวีป
ไทยถือรับมาเป็นขนบธรรมเนียมเมื่อใดยังไม่พบหลักฐาน แต่จากกฎมณเฑียรบาลฉบับแรกในสมัยอยุธยาตอนต้นที่กล่าวว่า "พระราชกุมารเกิดด้วยพระอัครมเหสี คือ สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า อันเกิดด้วยแม่ยั่วเมือง เป็นพระมหาอุปราช"
ทำให้ทราบได้ว่า มีขนบธรรมเนียมการตั้งพระมหาอุปราชแล้วตั้งแต่ปีชวด ศักราช 722 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงปลงพระราชหฤทัยเชื่อว่ากฎมณเฑียรบาลนี้ ตราขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง
สมัยอยุธยาตอนต้น พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการให้พระมหาอุปราชเสด็จไปครองเมืองสำคัญ เช่น เมืองลพบุรี เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นเมืองในราชธานีฝ่ายเหนือ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียม ไม่ส่งพระมหาอุปราชไปครองเมืองลูกหลวง คงให้ช่วยราชการอยู่ในราชธานี ทำให้มีการเรียกขานพระองค์เป็นอย่างอื่น เช่น เรียกว่าพระบัณฑูรบ้าง หรือเรียกว่า วังหน้าบ้าง ต่อมาเมื่อมีการสถาปนาพระอิสริยยศเจ้านายเป็นเจ้าต่างกรม ก็ได้สถาปนาพระอิสริยยศพระมหาอุปราชฝ่ายหน้า เป็น "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" สถาปนาพระอิสริยยศพระอุปราชองค์ที่สองเป็น "กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข"
สมัยรัตนโกสินทร์ ประเพณีการตั้งพระมหาอุปราช ชั้นพระอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้สิ้นสุดลงเมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงมีพระราชดำริให้ยกเลิกธรรมเนียมการตั้งตำแหน่งพระมหาอุปราชเสีย แล้วกลับไปใช้แบบธรรมเนียมตามที่กำหนดไว้ในกฎมณเฑียรบาล ที่ตราขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) คือให้มีราชกุมารศักดิ์สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าขึ้น แต่เปลี่ยนเรียกเสียใหม่ว่า "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" ทั้งนี้เพื่อรักษาราชประเพณีเดิมประการหนึ่ง และเพื่อให้เข้ากับธรรมเนียมที่เป็นอยู่ในนานาประเทศ ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกประการหนึ่ง จากเมื่อนั้นจวบจนปัจจุบันบนหน้าประวัติศาสตร์ไทย มีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร 3 พระองค์ ดังนี้
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ สยามมกุฎราชกุมาร มกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย ทรงพระราชสมภพ วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2421 ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิรุณหิศฯ หรือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในขณะเจริญพระชันษา จวนจะครบ 9 พรรษา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีลงสรงฯ รับพระนามาภิไธยให้เป็นพระเกียรติยศสืบไป พระราชพิธีลงสรงฯ นั้น เป็นพระราชพิธีมหาพิชัยมงคลไม่ค่อยมีบ่อยนัก ตั้งแต่การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา
หลังจากดำรงพระอิสริยยศสยามมกุฎราชกุมารได้เพียง 8 ปี ก็ประชวรเสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 มกราคม 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สถาปนาพระอิสริยยศสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่ 2 ได้แก่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชโอรสองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชโอรสองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เมื่อปีพุทธศักราช 2437 ขณะนั้นทรงเจริญพระชันษา 14 พรรษา และทรงศึกษาอยู่ ณ สหราชอาณาจักร จึงจัดเป็นงานวันเดียว มิได้จัดเป็นพระราชพิธีเฉลิมพระนามาภิไธย และมิได้กระทำเป็นพิธีใหญ่เช่นครั้งแรก เนื่องจากบ้านเมืองกำลังอยู่ระหว่างไว้ทุกข์
แต่ในประกาศพระบรมราชโองการ ระบุไว้เป็นความว่า "แม้ถึงว่าจะยังไม่ได้กระทำพระราชพิธีนั้น ก็ให้ทรงดำรงในตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมทั้งเกียรติยศ เกียรติคุณ และพระเดชานุภาพทั้งปวง อย่างผู้เป็นรัชทายาทสำหรับสืบสันตติวงศ์ ซึ่งได้มีพระราชกำหนดประกาศไว้แต่เมื่อ วันศุกร์ แรมหกค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก จุลศักราช 1248 นั้นเต็มบริบูรณ์ทุกประการ"
พระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ว่างเว้นมานาน ด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จนถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 มิได้ทรงมีพระราชโอรสรัชทายาท จึงมิได้มีการสถาปนาสยามมกุฎราชกุมารระหว่างรัชสมัยนั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระองค์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ให้ทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระเกียรติยศผู้เป็นรัชทายาทสำหรับสืบสันตติวงศ์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2515
นับเป็นการสถาปนาสยามมกุฎราชกุมาร ครั้งที่ 3 ในสมัยรัตนโกสินทร์และทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก ในสมัยการปกครองระบอบประชาธิปไตยของราชอาณาจักรไทย
ตลอดระยะเวลาที่ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ "สยามมกุฎราชกุมาร" ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นอเนกอนันต์ อันเป็นคุณูปการแก่พสกนิกรชาวไทยในด้านต่าง ๆ มากมาย จึงขอยกพระราชกรณียกิจบางส่วนมาเผยแพร่พอสังเขปดังนี้
ด้านการศึกษา การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะเยาวชนไทยควรได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ดีและทั่วถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนิน "โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" ขึ้นตั้งแต่ปี 2552 และต่อมา ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง "มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" ขึ้นในปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนที่เรียนดีทว่าขาดแคลนทุนทรัพย์ เป็นทุนพระราชทานตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพต่อเนื่องไปจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
ในปี 2556 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นนักบินที่ 1 เที่ยวบินมหากุศล เส้นทางไปกลับ กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช นำคณะพุทธศาสนิกชนเดินทางไปกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช นำเงินรายได้จากการจำหน่ายบัตร 100 ที่นั่ง โดยไม่หักค่าใช้จ่าย ร่วมสมทบทุนมูลนิธิทุนการศึกษาพระ ราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ด้านการศาสนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงฝักใฝ่เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา ทรงพยายามหาโอกาสในวันหยุดเสด็จพระราชดำเนินไปถวายสักการะสมเด็จพระสังฆราช และทรงเยี่ยมนมัสการพระเถระผู้ใหญ่เพื่อทรงสนทนาพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นอกจากนี้ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2509 ทรงมีพระราชศรัทธาออกบวชในพระพุทธศาสนา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีผนวช ณ พัทธสีมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) เป็นพระราชอุปัธยา จารย์ ได้รับถวายพระสมณนามว่า "วชิราลงฺกรโณ" ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอดจนทรงลาสิกขาในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2521
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ยังเสด็จพระราชดำเนินแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปฏิบัติพระราชกิจทางพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ เช่น เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายผ้าพระกฐินหลวงตามวัดต่าง ๆ เป็นต้น
ด้านการแพทย์และสาธารณสุข สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้สร้าง "โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช" เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร และยังทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ พระองค์ทรงมีพระราชปณิธานให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทุกโรงเอาใจใส่รักษาพยาบาลพสกนิกรของพระองค์ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วหน้าเสมอกัน โดยโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช มีทั้งสิ้น 21 แห่ง ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงพยาบาลสม่ำเสมอ พร้อมพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย เพื่อสามารถให้บริการที่ดีแก่ประชาชน
ด้านการเกษตร นอกจากเสด็จพระราชดำเนินแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พระราชทานขวัญ และกำลังใจแก่เกษตรกรไทยเป็นประจำทุกปีแล้ว ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 50 พรรษา ในปี 2545 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอพระราชานุญาต จัดทำโครงการ "คลินิกเกษตรเคลื่อนที่" ทูลถวาย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎ ราชกุมาร ทรงรับโครงการดังกล่าวไว้ในพระราชานุเคราะห์ และพระราชทานพระราชานุญาต อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อไว้ในเครื่องหมายสัญลักษณ์โครงการ โดยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯ เปิดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 ณ หมู่ที่ 5 ต.บ้านหลวง อ.ดอนพุด จ.สระบุรี
การจัดตั้งคลินิกเกษตรเคลื่อนที่สามารถทำให้การบริหารการจัดการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรแก่เกษตรกรบรรลุผลสำเร็จ เนื่องจากเป็นช่องทางที่สามารถให้บริการตรงตามความต้องการและทันต่อเหตุการณ์ การดำเนินงานคลินิกเกษตรเป็นการ บูรณาการวิชาการแต่ละสาขา ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง พัฒนา ที่ดิน กฎหมาย การบัญชี สหกรณ์ ฯลฯ โดยใช้การเคลื่อนที่เข้าไปหา เกษตรกร สร้างแรงดึงดูดใจและกระตุ้นให้เกษตรกรตื่นตัว ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหา
เนื่องในโอกาสมหามงคล สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 62 พรรษา 28 ก.ค. 2557 ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย แห่งสากลโลก ประสิทธิ์ประสาทพรถวายชัยมงคลแด่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระเกษมสำราญ มีพระชนมพรรษายิ่งยืนนานเป็นร่มโพธิ์แก่พสกนิกรชาวไทยตลอดกาลนานเทอญ.
........................
ที่มา : ทีมข่าวสตรี หนังสือพิมพ์เดลินิวส์