คลื่นมหาชนหลั่งไหลจากทั่วทุกสารทิศเพื่อร่วมถวายอาลัยแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร หรือที่คนไทยเรียกว่า "ในหลวงรัชกาลที่ 9" พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก 70 ปี รวมพระชนมพรรษา 89 พรรษา
ความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยที่มีต่อพ่อหลวงนั้น สะท้อนผ่านภาพที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 นับตั้งแต่ที่ประชาชนทราบข่าวการเสด็จสวรรคต พสกนิกรต่างร่ำไห้เศร้าโศกเสียใจต่อการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นี้ ถนนทุกสายที่มุ่งหน้าสู่โรงพยาบาลศิริราชล้วนเต็มไปด้วยปวงชนชาวไทยผู้อาลัยต่อการสวรรคตของพ่อหลวง ผู้คนต่างปักหลักเพื่อรอขบวนพระบรมศพที่เคลื่อนจากโรงพยาบาลศิริราชไปยังพระบรมมหาราชวัง
สองฝั่งถนนในวันนั้นคลาคล่ำไปด้วยพสกนิกรที่พร้อมใจกันแต่งชุดดำไปร่วมถวายอาลัยและร่วมเชิญพระบรมศพเพื่อประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยหมายกำหนดการประจำวันตลอด 100 วัน หรือตามกำหนดไว้ทุกข์ จะเริ่มตั้งแต่เวลา 06.00 น. พระราชพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม และประโคมย่ำยาม
ตามโบราณราชประเพณีการสรงน้ำพระบรมศพหรือพระศพเป็นขั้นตอนแรกที่จำกระทำเมื่อเจ้านายพระองค์นั้น ๆ เสด็จสู่สวรรคาลัย หรือชาวบ้านเรียกว่าเป็นการอาบน้ำศพ เป็นการอาบน้ำชำระศพให้สะอาด ธรรมเนียมนี้เป็นเรื่องการทำความสะอาดให้ผู้ตายไปอยู่ในภพภูมิอื่นในลักษณะบริสุทธิ์หมดจด บางทีก็เชื่อกันว่าเป็นการเตรียมตัวสำหรับไปไหว้พระจุฬามณีเจดีย์
วิธีปฏิบัติสืบต่อกันมาคือ ต้องต้มน้ำด้วยหม้อดิน เก็บเอาใบไม้สดต้มลงไปด้วย อาบน้ำร้อนก่อนแล้วตามด้วยน้ำเย็นฟอกด้วยส้มมะกรูดชำระล้างให้สะอาดหมดจด
สถานที่สรงน้ำพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ใช้พระที่นั่งพิมานรัตยา ในพระบรมมหาราชวัง
จากนั้นดำเนินการทำ "สุกำพระบรมศพ" เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งในงานพระราชพิธีพระบรมศพหรือพระศพ หรือขั้นตอนในการห่อและบรรจุพระบรมศพ เจ้าพนักงานภูษามาลาจะเชิญเครื่องพระมหาสุกำ หรือเครื่องพระสุกำ สำหรับแต่งพระบรมศพ นับตั้งแต่รัชสมัยพระบรมศพของพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ พระมหากษัตริย์ครั้งกรุงศรีอยุธยา อธิบายไว้ว่า "ครั้นสรงน้ำหอมแล้วจึงทรงสุคนธรสและกระแจะจวงจันทน์ทั้งปวง แล้วทรงสนับเพลาเชิงงอนทองชั้นใน แล้วทรงพระภูษาพื้นขาวปักทองชั้นนอกแล้ว จึงทรงเครื่องต้นและเครื่องทรง แล้วจึงทรงฉลองพระองค์อย่างใหญ่ กรองทองสังเวียนหยักและชายไหวแครงตาบทิบและตาบหน้าสังวาลประดับเพ็ชร จึงทรงทองต้นพระกรและปลายพระกรประดับเพ็ชร แล้วจึงทรงพระมหาชฎาเดินหนมี 5 ยอด แล้วจึงประดับเพ็ชร อยู่เพลิงทั้ง 10 นิ้วพระหัตถ์และ 10 นิ้วพระบาท"
สมัยรัตนโกสินทร์ปรากฏข้อความในจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 กล่าวถึงการจัดงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ดำเนินขั้นตอนคล้ายคลึงเมื่อครั้งกรุงเก่า ก่อนจะบรรจุลงในพระโกศทองใหญ่
สำหรับพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรรทมอยู่บนพระแท่น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมศพบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยกราบถวายบังคมพระบรมศพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับขวดน้ำพระสุคนธ์จากเจ้าพนักงาน ถวายสรงที่พระบรมศพ แล้วกราบถวายบังคมพระบรมศพ ทรงรับหม้อน้ำพระสุคนธ์ โถน้ำขมิ้น และโถน้ำอบไทย จากเจ้าพนักงาน ถวายสรงที่พระบาทพระบรมศพ
ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงหวีเส้นพระเจ้าพระบรมศพขึ้นครั้งหนึ่ง ทรงหวีลงครั้งหนึ่ง แล้วทรงหวีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แล้วหักพระสางนั้น วางไว้ในพานซึ่งเจ้าพนักงานเชิญอยู่
จากนั้นทรงวางซองพระศรีบรรจุดอกบัวและธูปเทียน แผ่นทองคำจำหลักลายปิดพระพักตร์ ทรงวางพระชฎาห้ายอด ข้างพระเศียรพระบรมศพ เสร็จแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เชิญพระหีบพระบรมศพ ไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นแว่นฟ้าหลังพระแท่นสุวรรณเบญจดล
จากนั้นได้เชิญพระหีบพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นแว่นฟ้าหลังพระแท่นสุวรรณเบญจดล มิได้ลงประทับยังพระบรมโกศ ซึ่งไม่ใช่การยกเลิกธรรมเนียมแต่อย่างใด แต่เป็นพระประสงค์ส่วนพระองค์ เนื่องด้วยเมื่อคราสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) สวรรคตนั้น พระองค์ได้ทรงรับสั่งว่าให้นำลงหีบพระบรมศพมาบรรจุ พระราชกระแสรับสั่งนี้เกิดขึ้นเมื่อคราพิธีสรงน้ำสมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ 7 ซึ่งสมเด็จย่าเสด็จด้วย และได้เห็นการทำพระสุกำหรือมัดตราสังพระบรมศพแล้วอัญเชิญลงสู่พระบรมโกศ เป็นไปด้วยความทุลักทุเล พระองค์จึงตรัสว่า "อย่าทำกับฉันอย่างนี้ อึดอัดแย่" ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (พระพี่นาง) ในรัชกาลที่ 9
ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เชิญพระบรมศพ และพระศพ ลงหีบพระศพ แทนการใส่พระโกศ ซึ่งสามารถทำได้ตามพระราชอัธยาศัย โดยพระศพของพระราชวงศ์ชั้นสูงที่เชิญลงประทับยังพระโกศไปนั้น คือปี 2554 พระศพของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นพระประสงค์ส่วนพระองค์ และทรงตรัสไว้ว่าจะดำรงพระเกียรติยศของการเป็นขัติยนารีแห่งพระราชวงศ์จักรีอย่างสูงที่สุด ในส่วนพิธีการนั้น สำนักพระราชวังจัดตรงตามโบราณราชประเพณีทุกประการ เว้นแต่ตอนพระราชทานเพลิงที่อัญเชิญพระโกศเข้าเตาไฟฟ้า แทนการตั้งบนจิตกาธานหรือเชิงตะกอน และยังมีพระศพของหม่อมเจ้าหญิงกรณิกา แห่งราชสกุลจิตรพงศ์ ที่สิ้นไปเมื่อปีที่แล้ว และเจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระศพลงยังพระโกศ
สำหรับขั้นตอนพระราชพิธีในลำดับต่อไป โปรดติดตามอ่านในฉบับต่อไป ที่จะกล่าวถึงรายละเอียด พระบรมโกศ เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ