เวลา 21.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันมาตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2515 ว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสถิตอยู่ในตำแหน่งที่ทางการเรียกว่า พระรัชทายาท ฉะนั้นรัฐธรรมนูญไทยได้เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2534 เรื่อยมาจนกระทั้งถึงปัจจุบัน รวมถึงที่จะเขียนในฉบับใหม่ ว่าเมื่อราชบัลลังก์ว่างลง กรณีที่มีการตั้งพระรัชทายาทไว้แล้ว จะไม่มีทางอื่นใดทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีจะต้องแจ้งไปยังประธานรัฐสภา ซึ่งขณะนี้คือประธาน สนช.ให้ทราบ ว่าได้มีการตั้งพระรัชทายาทไว้แล้วเมื่อไหร่อย่างไร พร้อมหลักฐานพยานต่างๆที่จะแนบไป ซึ่งเป็นเอกสารหลักฐานประกาศพระบรมราชโองการ สถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ โดยประธานสภาจะเรียกประชุม เพื่อมีมติรับทราบอย่างเป็นทางการ เมื่อเรียบร้อยแล้วจะได้อัญเชิญขึ้นครองราชย์ และออกประกาศให้รู้ว่าบัดนี้เรามีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯแล้ว นี่คือขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ชัดเจน
นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ในกฎมนเทียรบาลระบุไว้ว่า การตั้งเจ้านายพระองค์หนึ่งขึ้นเป็นพระรัชทายาท เป็นการตั้งตามกฎมนเทียรบาล เพราะฉะนั้นในประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จึงได้มีประโยคหนึ่ง ตามโบราณนิติราชประเพณีนั้นระบุว่า
เมื่อถึงเวลาที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ ทรงเจริญพระชนมายุสมควรแล้ว ก็จะตั้งเป็นพระรัชทายาท เพื่อสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อไป ขณะเดียวกันในกฎมนเทียรบาล มาตรา 4 เขียนไว้ว่า คำว่ารัชทายาท หมายถึงเจ้านายเชื้อบรมวงศ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงโปรดให้สถาปนา โดยจัดการพระราชพิธีสถาปนาให้เป็นพระรัชทายาทและตอนนี้ทุกอย่างได้เดินตามกฎมนเทียรบาล ทั้งยังเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีปัญหาใดๆ ทั้งนี้ ปัญหาจะเกิดในกรณีที่ไม่พระรัชทายาท ซึ่งขณะนี้ไม่มีปัญหา เพราะเป็นกรณีที่มีพระรัชทายาท
"จึงไม่มีเหตุที่จะเลื่องลือ เล่าขาน คิดเป็นอย่างอื่นทั้งสิ้น ทุกอย่างจะเดินตามนี้ รัฐบาลก็ตั้งใจที่จะเดินตามนี้ ทำตามนี้ เพียงแต่จะทำช้าหรือเร็ว เป็นเรื่องที่ต้องรับสนองพระราชปรารภของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ซึ่งพระองค์รับสั่ง อย่างเราต้องเข้าใจว่า แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ จะสถิตในหทัยราช ขณะเดียวกันพระองค์ท่าน ก็สถิตในหทัยราชสมเด็จพระบรมฯ ในฐานะทรงเป็นราชที่หมายถึงราษฎร และเป็นยิ่ง คือการเป็นลูกด้วย ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่พระองค์ทรงรับสั่งเองว่าขอเวลา ทำพระทัยร่วมกับประชาชนชาวไทย คนไทยวิปโยคอย่างไร พระองค์ก็วิปโยคอย่างนั้น อาจจะมากยิ่งกว่านั้นด้วยซ้ำ เพราะเป็นลูก มีความผูกพัน อยู่ๆจะต้องมาได้รับการตั้งเป็นพระเจ้าอยู่หัว แลเปลี่ยนอะไร ต่อมิอะไรทั้งหมด เพราะการเป็นพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อาจรวดเร็วกะทันหันเกินไป"
นายวิษณุ กล่าวถึงการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า การตั้งผู้สำเร็จราชการฯ เกิดขึ้นได้ 2 กรณี 1.เกิดจากกรณีที่พระมหากษัตริย์หรือกรณีที่บุคคลอื่นที่มีอำนาจในการตั้ง เช่น คณะองคมนตรีเป็นผู้เสนอเนื่องจากเกิดภาวะว่างเปล่าขึ้น กรณีนี้เรียกว่าเป็นโดยการแต่งตั้ง หากเป็นกรณีนี้ต้องปฏิญาณตนต่อรัฐสภาซึ่งเคยมีมาแล้วเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยการแต่งตั้งเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเสด็จออกผนวช สมเด็จพระนางเจ้าก็ต้องไปทรงปฏิญาณพระองค์ในที่ประชุมรัฐสภามาแล้ว 2.การเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน แปลว่า เป็นชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งจะไม่มีการแต่งตั้ง ไม่มีการประกาศ ไม่มีการสถาปนา และไม่มีการไปปฏิบัติตนในที่ประชุมรัฐสภา
"เป็นทันทีในเวลาแรกสุด เมื่อเกิดเหตุที่ราชบัลลังก์ว่างลง เพราะว่าตั้งไม่ทันก็ต้องมีเพื่อจะ หรืออาจจะต้องปฏิบัติหน้าที่บางอย่าง แต่ถ้าไม่มีอะไรต้องปฏิบัติก็แล้วไป แต่ของอย่างนี้ต้องเผื่อเอาไว้จะเกิดช่องว่างขึ้นไม่ได้เป็นอันขาด เพราะฉะนั้นอย่าเรียกให้เป็นภาษาพูดว่าอัตโนมัติอะไรเลย ถือว่าเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน ส่วนจะเป็นไปพลางถึงไหน รัฐธรรมนูญเขียนว่าพลางก่อนจนกระทั่งมีการอัญเชิญพระรัชทายาทขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ตรงนั้นจะเกิดช้าเกิดเร็วเป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้เวลาสักระยะ ฉะนั้นก็ไม่เกิดปัญหา ไม่มีอะไรเป็นช่องว่างสำหรับกรณีนี้ และผู้ที่จะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อนนั้น อย่าไปสนใจว่าเป็นใคร ชื่ออะไร ต้องสนใจว่าตำแหน่งอะไร เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่าประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วไม่มีทางที่จะไม่เป็น แล้วไม่มีทางที่จะไม่รับเป็นคือต้องเป็น แต่กรณีที่จะไม่เป็นมีกรณีเดียวคือกรณีที่มีการประกาศอันเชิญพระรัชทายาทขึ้นทรงครองราชย์ทุกอย่างจึงไม่มีช่องว่าง ทุกอย่างก็เดินไป"นายวิษณุ กล่าว