นพ.กำจรกล่าวต่อว่า หลังจากเด็กทราบคะแนนของตนเองแล้ว จะเปิดให้เด็กเลือกสาขาวิชาที่ต้องการเข้าเรียนได้ 4 อันดับ เมื่อเด็กเลือกแล้ว มหาวิทยาลัยจะคัดเลือกเด็กตามลำดับคะแนน และแจ้งผลการคัดเลือกกลับมาที่ส่วนกลางเพื่อเข้าสู่ระบบเคลียริ่งเฮาส์ ซึ่งจะมีทั้งหมด 2 รอบ โดยรอบแรก เมื่อเด็กยื่นคะแนนไปยังมหาวิทยาลัยแล้ว มหาวิทยาลัยจะส่งชื่อเด็กที่ผ่านการคัดเลือกเข้าระบบเคลียริ่งเฮาส์ และแจ้งกลับไปยังเด็กว่าได้รับการคัดเลือกกี่แห่ง และจะเลือกเรียนตามลำดับที่สอบได้หรือไม่ ซึ่งหากเด็กยังไม่พอใจในคณะ/สาขาที่สอบได้ ก็สามารถนำคะแนนไปเข้าในระบบเคลียริ่งเฮาส์รอบที่ 2 ได้ ทั้งนี้ หากเด็กเลือกเข้าเรียนในคณะที่สอบได้ในรอบแรกแล้วจะถูกตัดสิทธิออกจากการเคลียริ่งเฮาส์รอบที่ 2 ทันที และหากเดินหน้าใช้ระบบรับตรงกลางร่วมกันจะไม่อนุญาตให้มหาวิทยาลัยไปเปิดรับตรงเอง หากจะให้เปิดรับก็ต้องมีเหตุผลที่ดีมาชี้แจงให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.รับทราบ
"การรับเด็กในระบบนี้จะเรียกว่าการรับตรงกลางร่วมกันซึ่งจะให้เด็กสอบรอบเดียว แต่สามารถนำคะแนนมาเข้าสู่ระบบเคลียริ่งเฮาส์ได้ 2 รอบ ซึ่งคิดว่าจะสามารถรับเด็กเข้าเรียนได้ประมาณ 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% เด็กสามารถไปสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ยังมีที่นั่งว่างได้โดยตรงอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น อนาคตก็ไม่จำเป็นต้องมีระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์กลางอีกต่อไป ทั้งนี้ อาจจะดูเหมือนกลับไปทำระบบคล้ายกับเอ็นทรานซ์ แต่ระบบนี้เด็กจะรู้คะแนนล่วงหน้า เมื่อรู้คะแนนของตัวเอง เด็กก็จะสามารถประมาณตนได้ว่าจะไปแข่งกับใคร ในหลักสูตรใด" นพ.กำจรกล่าว