จระเข้ที่ซื้อมาเลี้ยงขนาดความยาวตัวละ 1 เมตร ราคาตัวละ 2,800 บาท เมื่อเลี้ยงไปได้ประมาณ 1 ปี ขนาดโตขึ้นความยาวตัวละ 2 เมตรเศษ ขายให้ฟาร์มจระเข้ขนาดใหญ่ตัวละ 6,000 บาท เป็นการลงทุนเฉพาะค่าตัวลูกจระเข้ ไม่เสียค่าใช้จ่ายอื่น เนื่องจากอาหารเลี้ยงจระเข้เป็นซากลูกสุกรที่ตายหลังคลอด
การเลี้ยงจระเข้ในฟาร์มสุกรเป็นประโยชน์
คือกำจัดของเสียจากการคลอดของสุกร รกหมู ไส้หมู ลูกหมูแรกเกิดตายไม่ต้องเอาไปทิ้งให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย เอาของเสียเหล่านั้นมาเป็นมูลค่าเลี้ยงจระเข้ เป็นการเพิ่มรายได้ในการเลี้ยงหมูด้วย สามารถขายจระเข้ระยะการเลี้ยง 2 ปี ขายได้ตัวละ 5,000-10,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาด หากเลี้ยง 100 ตัว ก็ขายได้เงินเป็นแสนบาท สามารถเพิ่มทุนในการเลี้ยงหมูได้"
ด้านนายสัตวแพทย์สรรเสริญ สุขพอดี
ซึ่งเพาะพันธุ์จระเข้เพื่อการศึกษาเป็นงานอดิเรก ที่เลี้ยงแม่พันธุ์จระเข้ไว้กว่า 70 ตัว ลูกขุนอีกกว่า 300 ตัว ที่ ต.น้ำพุ อ.เมืองราชบุรี และขายลูกจระเข้ให้ฟาร์มเลี้ยงสุกรให้ข้อมูลว่า จากการศึกษาเรื่องจระเข้เห็นว่าควรมีการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงจระเข้มากขึ้น จนถึงขั้นเป็นสัตว์เศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาตลาดต่างประเทศต้องการหนังจระเข้จำนวนมาก แต่ผู้เลี้ยงไม่สามารถส่งออกได้ มีเพียงเฉพาะฟาร์มใหญ่ๆ เท่านั้น ที่ได้รับใบอนุญาตจากองค์การคุ้มครองสัตว์ป่าโลก หรือ "ไซเตส" ซึ่งถ้ามีการสนับสนุนอย่างจริงจังให้ชาวบ้านเลี้ยงรวมกันเป็นกลุ่ม แล้วมีการสนับสนุนจากภาครัฐให้สามารถส่งออกหนังฟอกจระเข้ได้อย่างถูกต้อง เชื่อว่าจะช่วยให้ชาวบ้านในหลายท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเลี้ยงจระเข้อย่างจริงจัง
"สรรเสริญ" ร่ายยาวว่า ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องการตลาด
คือการขายจระเข้ หากส่งออกได้โดยเฉพาะหนังจระเข้ ประชาชนก็สามารถเลี้ยงจระเข้ส่งออกได้ไม่มีขีดจำกัด หรือเป็นปริมาณมากๆ ทำได้เลย แต่ปัญหาที่ส่งออกไม่ได้ ชาวบ้านทั่วไปทำไม่ได้ คือไม่มีลู่ทางในการขออนุญาตส่งออกจากไซเตส หากรัฐเข้ามาเป็นตัวกลางในการติดต่อกับไซเตส ว่าทางเรามีความสามารถผลิตจระเข้ โดยใช้สิ่งเหลือใช้จากฟาร์มสุกร และรัฐเป็นตัวเชื่อมให้ไซเตสรู้ว่าเราผลิตได้จริง ก็สามารถส่งออกได้ ชาวบ้านก็เลี้ยงจระเข้ได้ 100%
อีกทั้งทำให้มีรายได้เสริมอีกทางหนึ่งด้วย
เมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา สุกรมีราคาตกต่ำขายขาดทุนมาก หากเลี้ยงจระเข้เป็นงานเสริม ฟาร์มสุกรก็ไม่เกิดผลกระทบ เพราะการเลี้ยงจระเข้ในฟาร์มสุกรไม่มีค่าใช้จ่าย มีเพียงค่าตัวจระเข้ที่นำมาเลี้ยงเท่านั้น
ปัจจุบันจระเข้สายพันธุ์ไทยแทบจะไม่หลงเหลือในธรรมชาติ
การเลี้ยงจระเข้อย่างถูกวิธีจึงเป็นการอนุรักษ์สัตว์ป่าทางหนึ่ง แต่การเลี้ยงระดับชาวบ้านหรือชุมชนยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากมีตลาดรับซื้อไม่มาก การส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงอย่างจริงจังจึงยังทำไม่ได้มากนัก "แต่สำหรับฟาร์มเลี้ยงสุกรขนาดใหญ่ที่มีซากสุกรมาก การเลี้ยงจระเข้ไว้เป็นประโยชน์ อย่างน้อยก็เป็นตัวกำจัดซาก และเพิ่มรายได้ให้กับผู้เลี้ยงโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น"