สัญญาณเตือน ฉี่บ่อย กินจุ หิวบ่อย น้ำหนักลด ควรพบแพทย์
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 9 เมษายน 2549 12:51 น.
คนไทยเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น โดยเฉพาะเพศหญิงป่วยมากกว่าชาย 2 เท่าตัว เผย ปี 2547 มีผู้ป่วยนอนเยียวยาในโรงพยาบาลกว่า 200,000 คน เสี่ยงเป็นไตวายร้อยละ 40 พบผู้เสียชีวิตกว่า 7,500 ราย มีสัญญาณเตือน ฉี่บ่อย กินจุ หิวบ่อย น้ำหนักลด ควรพบแพทย์
นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อยเมื่อเป็นแล้วมักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคหัวใจ ไตวาย ตาบอด ต้องตัดเท้า หรือขา ทำให้ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมาน ประเทศต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลจำนวนมาก จากสถิติในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า แนวโน้มผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นทุกปี แสดงให้เห็นว่าโรคมีความรุนแรงมากขึ้น ล่าสุด ในปี 2547 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวาน 7,665 ราย เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึงเกือบ 2 เท่าตัว และมีผู้ป่วยต้องนอนรับการรักษาในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขถึง 247,165 ราย เฉลี่ยแล้วพบคนไทยมีอัตราป่วยเป็นโรคเบาหวานแสนละ 435 คน ในขณะที่ในปี 2545 คนไทยมีอัตราป่วยจากเบาหวานแสนละ 340 คน
ทั้งนี้ จังหวัดที่มีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากที่สุดในประเทศ ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อัตราป่วยเฉลี่ย 839 คนต่อแสนประชากร รองลงมา ได้แก่ จังหวัดสระบุรี ป่วยเฉลี่ย 780 คนต่อแสนประชากร จังหวัดสมุทรสาคร อัตราป่วย 746 คนต่อแสนประชากร จังหวัดสิงห์บุรีอัตราป่วยเฉลี่ย 712 คนต่อแสนประชากร และจังหวัดอุตรดิตถ์ ป่วยเฉลี่ย 680 คนต่อแสนประชากร ส่วนจังหวัดที่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานมากที่สุดในประเทศ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น เสียชีวิตเฉลี่ย 30 คนต่อแสนประชากร รองลงมา ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ เฉลี่ย 25 คนต่อแสนประชากร
นายพินิจ กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันและลดโรคเบาหวาน กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปีนี้ จะลดอัตราป่วยจากโรคนี้ให้ไม่เกิน 392 คนต่อแสนประชากร โดยให้ทุกจังหวัดรณรงค์ให้ประชาชนที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไปออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที กินผัก ผลไม้ เพิ่มขึ้น ส่วนผู้ที่ป่วยแล้วจะเน้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งโรคเบาหวานเป็นต้นเหตุเกิดไตวายได้ถึงร้อยละ 40 โดยขณะนี้ได้ขยายบริการคลินิกเบาหวานในสถานพยาบาลทุกระดับลงไปถึงระดับสถานีอนามัยที่ยกระดับเป็นศูนย์สุขภาพชุมชน
ทางด้าน นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการควบคุมน้ำตาลในร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ โดยโรคใช้เวลาก่อตัวนานมากนับสิบ ๆ ปี โรคเบาหวานที่พบในขณะนี้มี 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดที่พบในเด็กหรือวัยรุ่น ส่วนใหญ่มาจากกรรมพันธุ์ ทำให้ขาดฮอร์โมนอินซูลิน พาน้ำตาลจากกระแสเลือดเข้าสู่เนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย รูปร่างจะผอมแม้ว่าจะกินอาหารจุ ต้องฉีดอินซูลินควบคุม ส่วนชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบมากที่สุดในขณะนี้ พบได้ประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วยทั้งหมด พบในผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่มักจะอ้วนโดยมีอาการที่เป็นสัญญานเตือนที่สำคัญ ได้แก่ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปัสสาวะมาก มีแผลแล้วหายยาก กินจุ หิวบ่อย น้ำหนักลด ซึ่งหากใครมีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจโรคเบาหวานได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับตั้งแต่เริ่มมีอาการแต่เนิ่น ๆ เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไม่ค่อยรู้ตัวว่าเป็นโรค ปล่อยให้อวัยวะต่าง ๆ เสื่อมลง บางรายจะมาพบแพทย์ก็ต่อเมื่อมีปัญหาไตวายไปแล้ว จะทำให้การรักษามีความยุ่งยากมากกว่า
จากการเฝ้าระวังโรคเบาหวานทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของสถานพยาบาลในสังกัด จำนวน 26 จังหวัดทั่วประเทศ เมื่อปี 2547 พบผู้ป่วยเบาหวานเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 2 เท่า อายุยิ่งมากยิ่งพบเบาหวานมาก โดยพบในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปมากถึงร้อยละ 76 ในกลุ่มอายุ 40-49 ปี พบร้อยละ 18 และอายุต่ำกว่า 40 ปี พบได้ร้อยละ 7
นพ.ปราชญ์ กล่าว และว่า ในกลุ่มของผู้ป่วยเบาหวานหากปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์คือกินยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย จะไม่มีโรคแทรกซ้อน และหากออกกำลังกายควบคุมอาหารต่อเนื่องก็อาจจะไม่ต้องพึ่งยาก็ได้ แต่หากดูแลไม่ดีพอก็จะเกิดโรคแทรกซ้อนได้พบได้ร้อยละ 13 ที่พบมากที่สุดคือการแข็งตัวของหลอดเลือดแดงมากที่สุดร้อยละ 35 ทำให้เส้นเลือดแข็งตัว ที่พบได้บ่อยคือบาดแผลที่เท้า บางรายถึงต้องตัดขาทิ้ง