สธ.ย้ำไม่ยกเลิก ‘ส้วมซึม’ แต่รณรงค์นั่งชักโครก

สธ.ย้ำไม่ยกเลิก ‘ส้วมซึม’ แต่รณรงค์นั่งชักโครก


ขณะนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียที่อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน โดยมีการระบุว่ามีพระราชกฤษฎีกาฉบับหนึ่ง ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขต้องเปลี่ยนจากส้วมซึมนั่งยองเป็นโถส้วมนั่งราบ ทำให้ต้องยกเลิกการใช้ส้วมนั่งยองนั้น ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่สมควรยกเลิกการใช้ส้วมนั่งยอง หรือส้วมซึม เนื่องจากบางคนมีการมองว่าใช้มานาน และถูกหลักในการเบ่งถ่าย ขณะที่อีกกลุ่มมองว่า ส้วมนั่งราบ หรือส้วมชักโครก จะถนอมข้อเข่ากว่า โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ

เมื่อวันที่ 25 เมษายน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า เป็นเรื่องเข้าใจคลาดเคลื่อน ไม่ได้มีการยกเลิกการใช้ส้วมซึม เพียงแต่รณรงค์ให้ใช้ส้วมชักโครก เนื่องจากจะถนอนข้อเข่ามากกว่า อย่างไรก็ตาม แต่ที่ผ่านมากลับมีความเข้าใจผิด และระบุว่า มีพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ก.) บังคับใช้ ซึ่งจริงๆ แล้ว พ.ร.ก.ดังกล่าว คือ "พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556" โดยมาตรา 3 ระบุ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก.792 - 2554 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4380 (พ.ศ. 2554)

 

โดยมีหมายเหตุว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอนามัยของประชาชนได้ หากมีคุณภาพต่ำ จึงจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดแก่ประชาชน

 

นพ.วชิระ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้สืบเนื่องจากแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 พ.ศ. 2556-2559 สาระสำคัญ คือ พัฒนาส้วมครัวเรือนให้เหมาะสมในการรองรับต่อการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ ป้องกันโรคข้อเสื่อม เพื่อให้ประเทศมีส้วมสาธารณะได้มาตรฐาน สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะ ส่งเสริมให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล โดยตั้งเป้าภายในปี 2559 ให้ครัวเรือนไทยใช้ส้วมแบบส้วมนั่งราบร้อยละ 90 สถานบริการสาธารณะและสถานที่สาธารณะมีบริการส้วมนั่งราบอย่างน้อย 1 ที่

 

"ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยมีส้วมสาธารณะที่สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย ร้อยละ 90 ของกลุ่มเป้าหมาย คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะถูกสุขลักษณะร้อยละ 90 ของผู้ใช้บริการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ร้อยละ 50 ของส้วมในที่สาธารณะ ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยว ร้านจำหน่ายอาหาร ตลาดสด สถานีขนส่งทางบกและทางอากาศ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ ศาสนสถาน ส้วมสาธารณะ ริมทาง และ ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า เป็นต้น ดังนั้น การใช้ส้วมนั่งราบ หรือชักโครก จึงไม่ได้เป็นการบังคับว่าต้องมีทุกแห่ง เพียงแต่เป็นการขอความร่วมมือ และเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุเท่านั้น" นพ.วชิระ กล่าว

ขอบคุณ >>matichon


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์