ทั้งนี้ช่วง 3 ปีแรกหลังศาลต้นมีคำพิพากษาผู้ถูกคุมประพฤติไม่ทำงานบริการสังคมเลยโดยขอผัดผ่อนอ้างว่าอยู่ระหว่างศึกษาต่อ ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีสุดท้ายที่ต้องถูกคุมประพฤติ กรมคุมประพฤติจึงต้องเข้มงวด เพราะใกล้ครบกำหนด
อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งคณะกรรมการลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และมีการเปลี่ยนผู้อำนวยการสำนักงานงานคุมประพฤติจังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบบุคคลดังกล่าวสลับไปอยู่ที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดมหา สารคามและให้ผอ.สำนักงานคุมประพฤติมหาสารคามมารับหน้าที่แทน ซึ่งการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต้องมีมาตรการเดียวกันเพราะกรณีมีความล่าช้า แต่ฝ่ายผู้ถูกคุมประพฤติไม่พอใจกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ใช้วาจาไม่เหมาะสม ข่มขู่และพูดจาลวนลาม ซึ่งตนยังไม่ทราบข้อเท็จจริงแต่ทราบว่าได้มีการส่งหนังสือไปร้องกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินว่าเจ้าหน้าที่กระทำผิดตามมาตรา157 กรณีไม่ลงชื่อรับรองการทำบริการสังคม
อธิบดีกรมคุมประพฤติกล่าวยังกล่าวถึงขั้นตอนการคุมประพฤติว่า โดยปกติหลังศาลมีคำสั่งให้คุมประพฤติกรมมีหน้าที่ต้องทำตามคำสั่งศาลผู้ที่ถูกคุมประพฤติต้องแจ้งให้รับทราบว่าจะไปบริการสังคมใดเพื่อให้กรมคุมประพฤติรับ ทราบเพื่อมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่ผู้ถูกคุมประพฤติจะไปทำงานบริการสังคมและให้สามารถตรวจสอบได้ เพราะหากไม่ดำเนินการเจ้าหน้าที่ก็เข้าข่ายทำผิดมาตรา 157 ดังนั้น
ในกรณีดังกล่าวผู้ถูกคุมประพฤติต้องประสานให้กรมคุมประพฤติทราบว่าจะไปทำอะไรที่ไหน หน่วยงานนั้น ๆ และกรมคุมประพฤติจะได้ประสานและทำรายงานหากไม่ดำเนินการตามขั้นตอนก็จะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าทำงานบริการสังคมจริงหรือไม่
"ในห้วง 3 ปีที่ผ่านมาได้รับรายงานว่าในกรณีดังกล่าวผู้ถูกคุมประพฤติใกล้พ้นอำนาจของกรมคุมประพฤติแล้วและพบว่ามีการไปยื่นว่าสมัครใจที่จะทำงานบริการสังคมที่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าฯและมีการไปทำงานบริการสังคมมาแล้ว 90 ชั่วโมง แต่เจ้าหน้าที่ไม่รับรู้รับทราบการดำเนินการดังกล่าว ปกติกรมคุมประพฤติมีหน่วยงานภาคีอยู่ทั่วประเทศ โดยภาคีเหล่านี้จะมีแบบฟอร์มการทำงานบริการสังคมใบส่งตัวจากสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดซึ่งต้องการลงชื่อและบันทึกเวลานับชั่วโมงให้ครบถ้วนโดยต้องมีการลงลายมือชื่อรับรองจากทั้งหน่วยงานภาคีและผู้ถูกคุมประพฤติเพื่อนำเสนอศาลให้พ้นเงื่อนการคุมประพฤติ"
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าวเป็นการไปดำเนินการเองของผู้ถูกคุมประพฤติจากนั้นให้ทนายนำเอกสารไปยื่นต่อศาลว่าทำงานบริการสังคมมาแล้ว 90 ชั่วโมงซึ่งข้อเท็จจริงตลอด 3 ปีที่ผ่านมามีการอ้างการศึกษาเล่าเรียนไม่เคยทำงานบริการสังคมเลย แต่เคยมีการบริจาคเลือด ซึ่งเจ้าหน้าที่นับให้เป็น 6 ชั่วโมงและเมื่อทางกรมคุมประพฤติเริ่มเข้มงวดกลับมีเอกสารส่งมายืนยันว่าทำงานบริการสังคมมาแล้ว 90 ชั่วโมงไปยื่นต่อศาล ซึ่งศาลให้รับไว้ก่อน ส่วนที่เหลืออีก 48ชั่วโมง ศาลสั่งให้มาดำเนินการกับกรมคุมประพฤติอย่างเคร่งครัดซึ่งได้มีการส่งหนังสือแจ้งไปยังตัวผู้ถูกคุมประพฤติซึ่งเป็นผู้รับหนังสือเองแล้ว แต่ผู้ถูกคุมประพฤติยืนยันจะทำแบบเดิมต่อพร้อมมีการขู่ให้เจ้าหน้าที่ให้การรับรอง หากไม่ลงชื่อรับรองจะดำเนินการเอาผิดตามมาตรา 157ทำให้กรมคุมประพฤติต้องรายงานศาลให้รับทราบซึ่งหลังจากนี้ต้องรอฟังคำวินิจฉัยของศาล
"ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่มียักท่า หน้างอ รอนาน งานมาก ปากหมา แต่ผู้ถูกคุมประพฤติไม่ใช่ประชาชนใสๆ ทั่วไป เป็นผู้กระทำผิดจะให้นุ่มนิ่ม โอ้โลมปฏิโลมคงไม่ได้ ต้องบังคับกันบ้างแต่ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่เคยอยู่สองต่อสองกับผู้ถูกคุมประพฤติการพูดก็เพื่อตักเตือนไม่ให้เที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนโดยการพูดขู่ว่าจะสุ่มตรวจในช่วงตีหนึ่ง ตีสองก็เป็นไปตามคำสั่งศาล แต่กลับถูกร้องว่าเป็นการข่มขู่ลวนลาม"
พ.ต.อ ณรัชต์ จากการตรวจสอบผู้ถูกคุมประพฤติรายดังกล่าวมีการผัดผ่อนไม่ทำงานบริการสังคมมาโดยตลอด 3 ปี อ้างว่าติดเรียน ซึ่งเราก็ให้ความเป็นธรรมเพราะมีเกรดเฉลี่ยดีและไม่มีประวัติเที่ยวเตร่ มีการมารายงานตัวปกติ แต่ยังขาดการทำงานบริการสังคมซึ่งถือเป็นสาระสำคัญ ตลอด 3 ปี ไม่เคยทำเลย เคยทำหนังสือขอไปทำงานบริการสังคมที่โรงพยาบาลศิริราช เจ้าหน้าที่ทำหนังสือส่งตัว แต่ก็ไม่ได้ไป แต่ทำหนังสือไปรายงานศาลว่า 1 เดือนทำงานไปแล้ว 90 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมาซึ่งเป็นไปได้หากทำทุกวันเพราะเงื่อนไขกรมคุมประพฤติคือทำได้ไม่เกินวันละ 6 ชั่วโมงหากศาลรับรองการทำงานในครั้งนี้ก็จะถือเป็นกรณีแรกที่ให้การรับรองการทำงานคุมประพฤติกับหน่วยงานนอกภาคี ส่วนรพ.พระมงกุฎเกล้าฯ หากต้องการเข้ามามีส่วนร่วมเป็นภาคี
กรมคุมประพฤติก็พร้อมรับ
ด้านนายพยนต์ สินธุนาวา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการคุมประพฤติ กล่าวว่าการที่ศาลระบุให้จำเลยทำงานบริการสังคมเพื่อต้องการแก้ไขพฤตินิสัยโดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุซึ่งระบุไว้ในกฎหมายอาญามาตรา 56 ว่า การทำงานบริการสังคมต้องเป็นไปตามที่เจ้าหน้าที่คุมประพฤติและจำเลยมาพูดคุยและปรับแผนการทำงานบริการสังคมแต่กรณีนี้จำเลยไปทำงานโดยติดต่อสถานที่เองและไม่ได้แจ้งกรมคุมประพฤติ ซึ่งตามปกติการทำงานบริการสังคมต้องลงรายละเอียดเป็นรายชั่วโมงและต้องลงลายมือชื่อของทั้งผู้ถูกคุมประพฤติและเจ้าหน้าที่คุมประพฤติโดยภาคเครือข่ายได้รับความไว้วางใจจากศาลและกรมคุมประพฤติเพราะทำงานร่วมกันมานานมากกว่า10 ปี ข้อกำหนดของภาคีเครือข่ายต้องมีเอกสารยืนยันชัดเจนไม่ใช่รายชื่อเลื่อนลอย
"การที่ศาลสั่งทำงานคุมประพฤติไม่ใช่ต้องการให้ไปทำงานเพียงเสียเหงื่อแต่ต้องการให้สำนึกในความผิด ยกตัวอย่างคดีบุกรุกป่าชายเลนศาลสั่งให้ผู้ถูกคุมประพฤติปลูกป่าชายเลนโดยศาลไม่ต้องการพื้นที่ป่าเพิ่มแต่ต้องการให้ผู้ถูกคุมประพฤติสำนึกผิดจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติกรณีของแพรวาศาลจึงสั่งให้ทำงานในโรงพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุเพื่อให้รับรู้ถึงความรู้สึกของผู้บาดเจ็บและญาติของผู้เสียชีวิต"ผอ.สำนักพัฒนาการคุมประพฤติกล่าว
นายพยนต์ กล่าวอีกว่า ตนเห็นเอกสารบางส่วนที่ทนายความของแพรวานำไปยื่นแสดงต่อศาลว่าทำงานบริการสังคมที่รพ.พระมงกุฎ 90 ชั่วโมงโดยมีลายมือชื่อผอ.รพ.พระมงกุฎเซ็นรับรองและมีการตั้งคณะแพทย์ซึ่งเป็นแพทย์ทหารและนายทหารพระธรรมนูญเป็นกรรมการตรวจสอบโดยที่กรมคุมประพฤติไม่รู้เห็น ดังนั้น 90ชั่วโมงที่น.ส.แพรวาทำงานศาลจะนับให้หรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ศาลย้ำคือ 48 ชั่วโมงที่เหลือขอให้กรมคุมประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัดเจ้าหน้าที่จึงแจ้งให้แพรวารับทราบแต่ถูกปฏิเสธโดยยืนยันว่าจะทำงานบริการสังคมในวิธีการเดิม เจ้าหน้าที่จึงไม่เซ็นรับรองให้และทำหนังสือรายงานให้ศาลรับทราบซึ่งศาลจะพิจารณาประเด็นดังกล่าวรวมกับอีก 90 ชั่วโมง ในวันที่ 21 มิ.ย.นี้
อย่างไรก็ตามหากคดีนี้ศาลอุทธรณ์ไม่ขยายระยะเวลาคุมประพฤติเพิ่มเป็น 4 ปีก็จะพ้นกำหนดการคุมประพฤติไปแล้วตั้งแต่ 31 ส.ค.58 แต่เมื่อขยายเวลาจึงจะครบกำหนดในวันที่ 31 ส.ค.59 นี้ในระหว่างนี้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักเพื่อรอฟังการไต่สวนของศาล