ทั้งนี้ วัดอโศการาม ได้แจ้งกำหนดการสรงน้ำสรีระสังขารของพระญาณวิศิษฏ์ ในวันที่ 16 มี.ค. ณ ศาลาหลวงพ่อทรงธรรม วัดอโศการาม
16.00 น. กราบขอขมา / สรงน้ำสรีระสังขาร
18.00 น. น้ำหลวงสรงสรีระสังขารมาถึงวัดอโศการาม / บรรจุสรีระสังขารลงหีบศพ
19.00 น. สวดพระอภิธรรม
ประวัติของหลวงพ่อทองที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์วัดอโศการามมีดังนี้
พระอาจารย์ทอง จนฺทสิริ มีนามเดิมว่า ทอง นารีวงษ์ เกิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2475 ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก พื้นเพเดิมครอบครัวเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาด้วยกันทั้งหมด 9 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 5 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 6 ต่อมาครอบครัวอพยพย้ายถิ่นฐานมาปักหลักอยู่ ณ ต.วังใหญ่ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์
ชีวิตในวัยเด็กของ ด.ช.ทอง นารีวงษ์ ค่อนข้างมีชีวิตยากลำบาก ด้วยความเป็นอยู่ของทางบ้านที่มีฐานะยากจน ครอบครัวประกอบอาชีพทำนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ท่านเรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ต้องเลิกเรียนกลางคันเพื่อมาช่วยเหลือทางบ้านทำนาหาเลี้ยงปากท้อง
การบรรพชาและอุปสมบท
แต่ด้วยความเป็นคนใฝ่รู้ แสวงหาหลักยึดเหนี่ยวชีวิต มีใจเอนเอียงทางพุทธะ ประกอบกับโยมบิดามีความปรารถนาอันแรงกล้าให้บุตรชายได้บวชเรียนศึกษาตามธรรมเนียมชีวิตลูกผู้ชาย ทั้งนี้ ผู้ที่คอยชี้ทางส่งเสริมให้ท่านได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ไม่ใช่ใครอื่นที่ไหน คือ พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมฺมธโร) หรือท่านพ่อลี ธมฺมธโร เทพธรรมแห่งจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาแท้ๆ นั่นเอง
จากการได้ออกติดตามท่านพ่อลี ธมฺมธโร ผู้มีศักดิ์เป็นหลวงอา ไปทุกหนแห่งเวลาออกธุดงค์และพำนักจำพรรษาตามวัดต่างๆ ท่านต้องคอยปรนนิบัติรับใช้หลวงอาและต้องนอนอยู่หน้าโบสถ์ ความยากลำบากแทนที่จะกัดกร่อนจิตใจให้ท่านย่อท้อ แต่กลายเป็นความศรัทธาเลื่อมใสต่อวัตรปฏิบัติของหลวงอา ที่ดำรงตนด้วยความเรียบง่าย มักน้อย สันโดษ แต่เพียบพร้อมด้วยความวิริยะอุตสาหะ ดังนั้น ท่านจึงตัดสินใจบรรพชาเป็นสามเณร ในปี พ.ศ.2494 เมื่ออายุครบ 19 ปี ณ วัดป่าคลองกุ้ง ต.ตลาด อ.เมือง จ.จันทบุรี
เวลาผ่านไป 2 ปี เมื่อมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ก่อนย้ายไปพักจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาแก้ว ต.หนองตาคง อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี
การศึกษาพระปริยัติธรรม
หลังจากนั้น ได้หวนกลับมาอยู่วัดป่าคลองกุ้ง จ.จันทบุรี เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก
ความตั้งใจเดิมที่ต้องการบวชเรียนก็เพื่ออุทิศผลบุญส่วนกุศลให้แก่โยมบิดา เพียง 1-2 พรรษาเท่านั้น แล้วจะลาสิกขาออกมาใช้ชีวิตตามปกติทั่วไป ได้พลันแปรเปลี่ยนเมื่อท่านได้ลงลึกในรายละเอียด ศึกษาค้นคว้าหลักธรรมแห่งพระพุทธองค์จนถึงแก่น ความเลื่อมใสศรัทธาจึงเพิ่มทวีคูณ
พ.ศ.2499 พระอาจารย์ทองได้มาจำพรรษาที่วัดอโศการามกับท่านพ่อลี ธมฺมธโร ในพรรษาที่ 6 ท่านได้ไปเรียนวิชาภาษาบาลีที่วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ แม้จะเคยเรียนบาลีมาบ้างแล้ว แต่ท่านมิได้อวดรู้วิชา ยังฟังคำชี้แนะจากครูบาอาจารย์ให้ไปเรียนเพิ่มเติมอีก
จนมาถึงปี พ.ศ.2500 ไปจำพรรษาที่สำนักสงฆ์บ้านสันกอเก็ด ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เป็นเวลา 3 ปี กระทั่งท่านพ่อลีได้มรณภาพลง ท่านจึงได้กลับมาอยู่ที่วัดอโศการาม
ตำแหน่งงานปกครองและสมณศักดิ์
พ.ศ.2518 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี
ล่วงเข้าปี พ.ศ.2534 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอโศการาม
รุ่งขึ้นอีกปี ในปี พ.ศ.2535 เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ เวียนมาบรรจบครบ 5 รอบ 60 พรรษา ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในพระราชทินนามที่ "พระญาณวิศิษฏ์"