สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนชม "ฝนดาวตกลีโอนิดส์" หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต หลังเที่ยงคืนของวันที่ 17 พ.ย. ประมาณตี 3 เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 18 พ.ย. ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณกลุ่มดาวสิงโต ปีนี้มาน้อยกว่าทุกปี หากฟ้าใสไร้เมฆเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วไทย แนะจุดชมให้อยู่ในที่มืด ไม่มีแสงไฟรบกวน
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยว่า ในเดือนพฤศจิกายนของทุก ๆ ปี ช่วงระหว่างวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2558 จะเกิดปรากฏการณ์ "ฝนดาวตกลีโอนิดส์" หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต สังเกตได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ต่อเนื่องไปถึงรุ่งเช้าของวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 สำหรับในปีนี้ กลุ่มดาวสิงโตจะโผล่พ้นจากขอบฟ้าในเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 18 พฤศจิกายน ดังนั้นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์มากที่สุด คือเวลาประมาณ 03.00 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณใกล้กลุ่มดาวสิงโตซึ่งเป็นศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตก และปีนี้เป็นที่น่าเสียดาย ในประเทศไทยจะมีโอกาสมองเห็นฝนดาวตกดังกล่าวในจำนวนไม่มากนัก ประมาณ 10-15 ดวงต่อชั่วโมง แม้จะมีให้เห็นในปริมาณน้อย แต่ฝนดาวตกลีโอนิดส์ถือเป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมากที่สุด เนื่องจากมีการเคลื่อนที่ผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศในอัตราเร็วถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที ผู้สนใจสามารถรอชมความสวยงามของปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ได้ในคืนดังกล่าว
ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยทั่วไป ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการสังเกตฝนดาวตกคือตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป เนื่องจากเวลาหัวค่ำจนถึงก่อนเที่ยงคืนเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งสวนทางการหมุนรอบตัวเองของโลก เราจะเห็นดาวตกมีความเร็วสูง ทำให้สังเกตได้ยาก แต่หลังเที่ยงคืนไปจนถึงเวลาใกล้รุ่งจะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก เราจึงเห็นดาวตกวิ่งในอัตราเร็วที่ช้ากว่าจนมีเวลาที่สามารถชี้ชวนกันดูได้ และมองเห็นความสวยงามของดาวตกได้ชัดเจนขึ้น
สถานที่ในการชมฝนดาวตก ควรเป็นสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน จะสังเกตดาวตกมีความสว่างมาก วิธีการชมฝนดาวตกให้สบายที่สุด ให้นอนรอชมเนื่องจากช่วงที่เกิดฝนดาวตกจุดศูนย์กลางจะอยู่เหนือท้องฟ้ากลางศีรษะพอดี ส่วนการบันทึกภาพฝนดาวตกนั้น ไม่อาจบอกได้แน่ชัดว่าควรตั้งกล้องทางทิศไหน เนื่องจากกระจายทั่วท้องฟ้า ต้องอาศัยการเดาหรือเปิดหน้ากล้องเพื่อรอให้ดาวตกวิ่งผ่านหน้ากล้อง ดร.ศรัณย์กล่าวปิดท้าย
ฝนดาวตกลีโอนิดส์เกิดจากสายธารเศษฝุ่นของดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวงโคจรของดาวหางตัดผ่านวงโคจรของโลก ทำให้เศษฝุ่นของดาวหางเหล่านั้นเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการเผาไหม้จนเห็นเป็นแสงสว่างวาบคล้ายลูกไฟวิ่งพาดผ่านท้องฟ้า ทิศทางวงโคจรของฝนดาวตกลีโอนิดส์สวนทางกับทิศทางวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ความเร็วของเม็ดฝุ่นที่เข้ามาเสียดสีกับบรรยากาศโลกมีความเร็วค่อนข้างมาก โดยมีความเร็วสูงถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมากที่สุด จึงได้รับการขนานนามว่า "ราชาแห่งฝนดาวตก"