ร้าวทรุดบ้านหรูรัชวิภา EP.1 ปวดใจใครจ่าย? ลูกบ้าน VS เอพี แถลงไขทำไมพังยับ!
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ ร้าวทรุดบ้านหรูรัชวิภา EP.1 ปวดใจใครจ่าย? ลูกบ้าน VS เอพี แถลงไขทำไมพังยับ!
หมู่บ้านกลางกรุง เดอะ รอยัล เวียนา (The Royal Viena) รัชวิภา หมู่บ้านโครงการใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนรัชดาภิเษก แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ที่ ณ วันนี้บ้านหลายร้อยหลัง จำต้องตกอยู่กับสภาพถนนทรุดตัวและดึงหน้าบ้านของลูกบ้านลาดเอียงลง
“ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทรุดตลอดเลย ตอนรับบ้านก็ไม่มีวี่แววเรื่องทรุด บ้านดูดี สวยงามทุกอย่าง พอผ่านไปปีครึ่ง ถนนเริ่มแตกเป็นรอยร้าว ถนนเป็นคลื่น เป็นแอ่ง ทีนี้ก็เชื่อมกับตัวลานจอดรถของบ้าน พอถนนทรุดก็ดึงหน้าบ้านให้ทรุดไปด้วย จนบางบ้านต้องเอารถจอดไว้หน้าหมู่บ้าน ถนนซ่อมแล้ว 3 รอบก็ยังทรุดอีก ราคาบ้านคือ 5-8 ล้าน คนในหมู่บ้านก็เยอะแยะที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว เก็บเงินดาวน์บ้านหลังแรกในชีวิต แต่ต้องมาเจอสภาพแบบนี้ เสียทั้งเงิน เสียทั้งสุขภาพจิต นี่คือสิ่งที่เราควรได้รับหรือ?” นางมัยรัตน์ พีระญาณ์โกเศส คณะทำงานและตัวแทนลูกบ้านหมู่บ้านกลางกรุงรัชวิภา เธอทวงถามสิ่งควรได้รับ พร้อมเล่าถึงชะตากรรมของลูกบ้าน บ้านกลางกรุง เดอะ รอยัล เวียนา รัชวิภา
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ไล่เรียงเรื่องราวจากปัญหาที่เหล่าลูกบ้านต้องพบเจอ ตอบด้วยข้อชี้แจงจากทาง บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) จะชัดเจนแจ่มแจ้งหายข้องใจ หรือขุ่นข้องหมองใจอยู่เช่นเดิม ลูกบ้าน ผู้ประกอบการ หรือประชาชนที่กำลังตัดสินใจจะซื้อบ้าน ต้องติดตาม!
- หมู่บ้านกลางกรุง เดอะ รอยัล เวียนา รัชวิภา เป็น “บึง” มาก่อน สรุปแล้วจริงหรือ?
ลูกบ้าน : มัยรัตน์ พีระญาณ์โกเศส ตัวแทนลูกบ้านหมู่บ้านกลางกรุงรัชวิภา กล่าวให้ทีมข่าวฟังว่า เดิมทีที่ดินที่ก่อตั้งโครงการหมู่บ้านกลางกรุง เดอะ รอยัล เวียนา รัชวิภา นั้น เป็นบึงมาก่อน ซึ่งบึงในที่นี้ใช้สำหรับทิ้งเศษอิฐ เศษปูน เศษวัสดุจากการก่อสร้างทั้งหลาย จึงทำให้การอัดถมดินยังไม่แน่นพอ จนนำมาสู่การทรุดตัว
AP : นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์การตลาด บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) (AP) ตอบคำถามคาใจลูกบ้านถึงประวัติที่ดินผืนนี้ ว่า เมื่อก่อนที่ดินบริเวณนี้เป็นศูนย์อบรมของปูนซิเมนต์ไทย และมีพื้นที่บางส่วนเป็นบ่อบัว ซึ่งจะเห็นว่าโซนที่เป็นบ่อบัว เมื่อเทียบกับผังโครงการจริง จะพบว่าบริเวณเดิมที่เป็นบ่อบัวไม่มีการทรุดตัวแต่อย่างใด
“สำหรับการถมที่ ในพื้นที่ที่เป็นถนนจะใช้ดินที่มีลักษณะเป็นดินแห้ง ถมบริเวณหน้าดิน ส่วนตัวผังหรือพื้นสำหรับตัวบ้าน จะมีการขุดความลึก 2-3 เมตร แล้วถมทับด้วยดินเหนียวตามท้องนา โดยมีระยะการถมดินทิ้งไว้ประมาณ 2 ปี” นายวิษณุ สุชาติล้ำพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) แจงรายละเอียดในการถมที่ดินก่อนก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์
- ก่อนก่อสร้าง AP เจาะชั้นดินมาตรวจก่อนหรือไม่?
ลูกบ้าน : โดยทั่วไปแล้ว ก่อนที่เจ้าของโครงการอสังหาริทรัพย์จะก่อสร้างบ้าน ต้องมีการสำรวจว่า ดินนั้นอยู่ในสภาพใด และถึงเวลาอันควรแล้วหรือที่จะสร้างอาคารได้อย่างปลอดภัย
AP : นายวิษณุ สุชาติล้ำพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอพีฯ ชี้แจงถึงปมปัญหาดังกล่าวว่า ในวันนี้ (14 ก.ค.58) ทาง AP จะเข้าไปดำเนินการเจาะสำรวจชั้นดินของโครงการดังกล่าว โดยเจาะดินบริเวณที่เป็นปัญหา 1 หลุม และบริเวณท้ายโครงการที่ไม่เกิดปัญหาการทรุดตัวอีก 1 หลุม รวม 2 หลุม เพื่อตรวจสำรวจและวิเคราะห์ว่าลักษณะดินเช่นนี้ การทรุดตัวจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าผลออกมาว่าการทรุดตัวเริ่มเข้าที่หรือไม่มากไปกว่านี้แล้ว ทางบริษัทจะได้ดำเนินการแก้ไข โดยเป็นไปตามมาตรฐานของบริษัท AP แต่ถ้าเกิดการทรุดตัวเพิ่มอีก ทางบริษัทจะนำข้อเท็จจริงจากการเจาะสำรวจไปปรึกษากับทาง วสท. ว่า มีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร หรือถ้ามีอะไรเพิ่มเติมก็ให้ทาง วสท. แนะนำมา ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยร่วมกันว่า สิ่งใดบ้างที่ AP สามารถทำได้ และยังคงยืนยันว่า การแก้ปัญหาไม่ให้ดินทรุดตัวอีกนั้น ไม่มีใครทำได้แน่นอน
“หากทาง วสท. ระบุมาว่า ตามหลักการจะต้องแก้ปัญหาโดยการลงเสาเข็ม ทาง AP ก็ยินดีฝังเสาเข็มให้ แต่จะต้องมาดูความยาวของเสาเข็มที่จะสามารถตอกได้จริง เนื่องจากการลงเสาเข็มเป็นวิธีที่จะต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง” วิษณุ สุชาติล้ำพงศ์ อธิบาย
- เดือดร้อนจริงเกือบ 200 หลัง เหตุใด AP อนุมัติซ่อมแค่ 41 หลัง?
ลูกบ้าน : นายวัฒนะ แฉล้มมานุช ตัวแทนลูกบ้าน กล่าวถึงจำนวนบ้านที่ประสบปัญหาว่า ในหมู่บ้านจะมีทั้งหมด 330 ยูนิต โดยลูกบ้านที่ประสบปัญหาได้ส่งคำร้องให้กับทาง AP ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2557 กว่า 200 หลัง แต่ AP กลับอนุมัติบ้านที่จะให้การช่วยเหลือออกมาเพียง 41 หลัง และ 41 หลังข้างต้น ก็มิใช่ว่าจะได้รับการแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ 100% เนื่องจากบางบ้านได้ 4,000 บาท บางบ้านได้ 30,000-40,000 บาท ซึ่งบ้านที่ได้เงินซ่อมแซม 40,000 กว่าบาทนั้น ซ่อมจริงกว่า 250,000 บาท โดยออกเงินเอง เพราะเขาถือว่าสิ่งที่ทาง AP ซ่อมให้ ทำให้บ้านต้องทรุดอีก ดังนั้น กันไว้ดีกว่าแก้
AP : นายวิษณุ สุชาติล้ำพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ว่า บ้านที่มีการทรุดตัวในระดับที่น้อยกว่า 10 ซม. ถือว่าเป็นการทรุดตัวโดยธรรมชาติ ส่วนบ้านที่ทรุดมากกว่า 10 ซม. จะอยู่ในข้อกำหนดที่ทาง AP จะให้การช่วยเหลือ ดังนั้น บ้านที่ทรุดบริเวณลานจอดรถมากกว่า 10 ซม. มีจำนวน 19 หลัง ซึ่งมีบางหลังที่ประสบปัญหารั้ว ลานซักล้างหลังบ้าน มีการทรุดตัวมากกว่า 10 ซม. โดยสรุปแล้วบ้านที่ประสบปัญหานั้นมี จำนวน 41 หลัง
“ต้องเรียนให้ทราบว่าการทรุดตัวนั้นไม่ได้อยู่ในระยะประกันแล้ว แต่ทางบริษัทเอพีก็มีแผนที่จะซ่อมแซมให้อยู่แล้ว ซึ่งทางบริษัทจะกำหนดไว้ว่าในแต่ละหลังจะซ่อมด้วยวงเงินเท่าไร แต่สำหรับการทรุดตัวนั้น เป็นสิ่งที่นอกเหนือจากเงินประกัน จึงขอเป็น 70: 30 (ทาง AP จ่าย 70% ลูกบ้านจ่าย 30%) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางบริษัทได้มีการดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว” รองกรรมการผู้อำนวยการ AP ชี้แจง
- หน้าบ้านทรุด สรุป AP ว่าอย่างไร ซ่อมแบบใด ใครรับผิดชอบเม็ดเงิน?
ลูกบ้าน : มัยรัตน์ พีระญาณ์โกเศส คณะทำงานของหมู่บ้าน ตัดพ้อถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวบ้านว่า ปัญหาระดับนี้เกินกำลังกว่าที่ลูกบ้านจะแก้ปัญหากันเอง ทางโครงการไม่ได้สนใจใดๆ อยู่แล้ว เพราะลูกบ้านร้องเรียนปัญหาต่างๆ อย่างเป็นทางการให้กับ AP ตั้งแต่ปี 2557 แต่แล้วก็ถูกปฏิเสธเรื่องการพูดคุย
“เขาบอกว่า เข้ามาตรวจสอบแล้ว สรุปว่าเป็นการทรุดตัวแบบธรรมชาติ แล้วการดูแลลูกบ้านล่ะ บ้านทรุดตัวขนาดนี้ จะทำอย่างไร เขาพูดซ้ำไปซ้ำมาอยู่ 2 อย่าง ซึ่งประโยคแรกคือ ทรุดตัวตามธรรมชาติ ประโยคที่สองคือ เขาบอกว่าเขาทำให้เต็มที่ตามมาตรฐานของ AP มีบ้านอยู่หลังหนึ่งที่ AP มาซ่อมให้ 3 รอบ แต่ก็ยังทรุดอีก” มัยรัตน์ แกนนำหลักของหมู่บ้าน เธอพูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง
AP : รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอพีฯ ตอบคำถามที่ลูกบ้านหลายต่อหลายคนตั้งตารอฟังคำตอบว่า บ้านที่มีการทรุดตัวมากกว่า 10 ซม. ทั้งบริเวณด้านหน้าลานจอดรถ ด้านหลังบ้าน และรั้วหน้าบ้าน ทางบริษัทได้ประเมินวงเงินอยู่ที่ 80,000 บาท โดยวิธีการนำแผง คสล.(โครงสร้างเหล็ก) กั้นบริเวณดินที่เป็นโพรง เพื่อไม่ให้ดินสไลด์เข้าในตัวบ้าน แล้วจึงอัดดินถมเข้าไปใหม่ รวมถึงลงทราย และเทคอนกรีต ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่ทางบริษัทจะดำเนินการซ่อมแซมให้ แต่ทางลูกบ้านบางรายบอกว่าไม่ต้องการวิธีนี้ เนื่องจากอยากลงเสาเข็ม ซึ่งการลงเสาเข็มจะเป็นวิธีที่จะต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง
“การที่ทางลูกบ้านใช้วิธีการแก้ไขที่ไม่ตรงกับทางบริษัทจะดำเนินการแก้ไขให้นั้น ผมมองว่าพื้นดินกรุงเทพมหานครมีการทรุดตัวตามปกติโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ ในเมื่อเกิดการทรุดตัวมากกว่าปกติเกิดขึ้น ทางบริษัทก็ยินดีที่จะเข้าไปช่วยเหลือเยียวยา” รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอพีฯ กล่าว
- มาตรฐาน AP แท้จริงคืออะไร? บ้านราคา 6.8 ล้าน แต่กลับได้วัสดุไม่สมราคา!
ลูกบ้าน : นายมงคล พิทักษ์สุขสันติ ตัวแทนลูกบ้านหมู่บ้านกลางกรุงรัชวิภา พูดถึงวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ของบ้านกลางกรุง รัชวิภาว่า ถ้าไล่เรียงกันในเรื่องประสิทธิภาพของอุปกรณ์ต่างๆของบ้าน คงจะบอกได้ว่า วัสดุไม่สมกับราคาบ้านแต่อย่างใด เพราะบ้านหลังนี้ราคา 6.8 ล้าน แต่กลับได้วัสดุที่ไร้คุณภาพ หรือติดตั้งอุปกรณ์แบบขอไปที ไม่ว่าจะเป็นฝ้าเพดาน สายไฟ หรือแม้แต่ปลั๊กไฟ เรียกได้ว่า ตนต้องรื้อทำใหม่ทั้งหมด จนข้างบ้านต้องถามตนว่า รื้อจนเหลือแต่เสาบ้านหรือเปล่า
AP : รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอพีฯ แจงรายละเอียดถึงคุณภาพการก่อสร้างทั้งภายใน ภายนอกอาคารว่า สำหรับตัวบ้านจะแยกการก่อสร้างออกเป็นส่วนโครงสร้างกับส่วนอาคาร สำหรับมาตรฐานของโครงสร้างทาง AP มั่นใจว่าไม่มีปัญหา เนื่องจากเสาเข็มและคานของโครงสร้าง ทำให้บ้านไม่ทรุด ไม่เอียง ส่วนอาคาร เช่น นอตไฟ สวิตช์ไฟ รวมถึงประตูหรือหน้าต่าง ยอมรับว่า ทางบริษัท AP ไม่ได้ผลิต ทางบริษัทมีการสั่งซื้อแล้วนำมาประกอบ ซึ่งทางบริษัทมีการกำหนดว่าโครงสร้าง จะมีการรับประกัน 5 ปี และส่วนของอาคาร รับประกัน 2 ปี
“ต้องเรียนว่า การส่งมอบแก่ลูกค้าแต่แรกนั้น ทางบริษัทมีการให้ลูกค้าเข้ามาตรวจสอบความเรียบร้อยและเซ็นรับก่อนทุกครั้ง สำหรับอุปกรณ์บางอย่างสำหรับตัวอาคารที่ระยะเวลาผ่านไปมีการเสื่อมสภาพบ้างก็เป็นไปตามอายุการใช้งาน ทางบริษัท AP จะเข้าไปดำเนินการซ่อมแซมให้ ซึ่งทั้งหมดนี้คือมาตรฐานที่ AP ใช้และเป็นมาตรฐานทั่วไปของอุตสาหกรรม ดังนั้น ทางบริษัทจะดำเนินการซ่อมแซมให้ตามระยะเวลาประกัน นอกจากนี้ ต้องเรียนว่า ในระยะเวลา 5 ปี อะไรก็เกิดขึ้นได้ แม้แต่ภัยจากธรรมชาติ” รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอพีฯ พูดถึงบริการหลังการขาย
- ไม่จดนิติบุคคลเสีย! ฟัง 2 ทาง ควรหรือไม่ควรจัดตั้ง?
ลูกบ้าน : มัยรัตน์ พีระญาณ์โกเศส คณะทำงานของหมู่บ้าน แสดงทรรศนะในมุมมองของลูกบ้านว่า “บนหน้าสัญญาก่อนซื้อขาย ระบุถึงความปลอดภัย สาธารณูปโภค การจัดตั้งนิติบุคคล ไว้เป็นอย่างดี และทางโครงการจะดูแลหมู่บ้านจนกระทั่งโอนถ่ายนิติบุคคลให้แก่ลูกบ้าน แต่หมู่บ้านก็เละตั้งแต่ก่อนจะเป็นนิติบุคคล เละอย่างนี้มา 2-3 ปีแล้ว ที่จริงเขามีกำหนดระยะเวลาไว้ แต่ว่าในการโอน ทั้งหมดต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ถึงมีคณะบุคคลกล้ามารับโอนถ่ายจากเจ้าของโครงการ เพราะฉะนั้น ลูกบ้านจะมารับปัญหาแทน AP ไม่ได้ เพราะบ้านเหล่านี้ขายโดย AP ไม่ใช่มาจากคณะบุคคล และลูกบ้านที่มาซื้อบ้าน อยู่ดีๆ จะให้เขามารับภาระปัญหาของ AP ไม่ได้”
มัยรัตน์ แกนนำลูกบ้าน ย้อนเล่าถึงจุดเหตุการณ์ที่ครอบครัวของเธอต้องเผชิญว่า เมื่อก่อนลูกบ้านต่างคนต่างอยู่ แต่ปรากฏว่า อยู่มาวันหนึ่งลูกชายโดนโจรล็อกคอที่หน้าหมู่บ้าน โดยมีจุดประสงค์ที่จะเอากระเป๋า โทรศัพท์ และของมีค่า พอโจรทั้ง 2 คนกำลังหยิบค้น หรือคุ้ยดูว่าในกระเป๋ามีอะไร ลูกชายก็เลยรีบวิ่งเข้ามาที่หมู่บ้าน เพื่อขอความช่วยเหลือจาก รปภ. แต่กลับไม่มี รปภ.สักคน เพราะว่า AP เอารปภ.ออก เพื่อเป็นการประหยัดเงิน ทั้งที่โครงการนี้ยังไม่มีนิติบุคคล
AP : นายวิษณุ ชี้แจงว่า สำหรับเรื่องของความปลอดภัย จะต้องใช้งบประมาณจากค่าบริการส่วนกลาง ตามสัญญามาตรฐานของกรมที่ดิน ซึ่งมีค่าบริการส่วนกลางได้แก่ ค่าขยะ ค่าเก็บขยะ ค่าไฟส่องสว่าง คนกวาดถนน และค่าคนจัดการสำหรับตรวจสอบดูน้ำ ไฟ รวมถึงรปภ. โดยเป็นหน้าที่ของลูกบ้านที่จะต้องชำระ หลังละ 800 บาทต่อเดือน ซึ่งผู้ประกอบการจะมีหน้าที่รวบรวมเงินในค่าใช้จ่ายส่วนกลางทั้งหมด
ทั้งนี้ รายได้จากค่าส่วนกลางต่อเดือน ทั้งสิ้นจำนวน 2.6 แสนบาท ซึ่งถ้าได้รับการจัดเก็บจากลูกบ้านตามเป้า จะเพียงพอต่อการใช้จ่ายค่าส่วนกลางเหล่านี้ แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมา มีจำนวนลูกบ้านที่ไม่ชำระค่าส่วนกลางเกือบตั้งแต่ปี 2557 กว่า 60% ของจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด จึงทำให้โครงการสามารถจัดเก็บได้เพียง 1 แสนกว่าบาทเท่านั้น และเป็นเหตุผลที่ว่าทางบริษัท AP ต้องลดค่าใช้จ่ายบางส่วนไป ซึ่งเดิมทีบริษัทไม่ได้ลดสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ แต่เมื่อมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่ทางบริษัทต้องรับภาระหนักเข้าเรื่อยๆ จึงตัดสินใจคุยกับลูกบ้านว่า หลังจากนี้ทางบริษัทจำเป็นจะต้องลดสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลางลงตามความเหมาะสม
ทางบริษัทได้มีการแจ้งกับลูกบ้านอย่างเป็นทางการไปแล้วว่า จะมีบริการส่วนกลางให้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนเท่านั้น โดยให้เวลาลูกบ้านปรับตัวอย่างน้อย 6 เดือน และถ้าผ่าน 6 เดือนไปแล้ว ทางลูกบ้านยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะมีการจัดตั้งนิติบุคคลหรือไม่ ทางบริษัทจะส่งเรื่องไปยังกรมที่ดิน เพื่อให้กรมที่ดินสั่งการมาใหม่ว่า จะจัดการด้วยกรณีพิเศษอย่างไร
“นิติบุคคลมีหน้าที่เสมือนองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาตามกฎหมายว่า ถ้าไม่จ่าย จะเป็นหนี้นิติบุคคล อีกแง่คือ ถ้าจัดตั้งนิติบุคคลคือ จะได้มีตัวแทนอย่างเป็นทางการ เนื่องจากที่ผ่านมาตัวแทนลูกบ้านที่เข้ามาคุยกับทางบริษัทนั้น เปลี่ยนหน้าอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งบางครั้งต้องเรียนว่าทางบริษัทก็ไม่ทราบว่าเป็นตัวแทนจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้นนิติบุคคลทำหน้าที่ช่วยให้การเข้าไปดำเนินการแก้ปัญหาต่างๆ ชัดเจนมากขึ้น เพราะทางบริษัทยินดีรับผิดชอบอยู่แล้ว” นายวิษณุ พูดถึงข้อดีของการจัดตั้งนิติบุคคล
สิ่งที่ชาวบ้านวิตกกังวล ก็คือ หลังจากมีการจัดตั้งนิติบุคคลไปแล้ว ทางบริษัทเอพีจะยังมีการดูแลหรือรับผิดชอบหมู่บ้านอยู่หรือไม่? ทีมข่าวซักถามต่อผู้บริหาร AP โดยรองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์การตลาด บมจ.AP ตอบในเรื่องนี้ว่า “จะมีนิติบุคคลหรือไม่นั้น ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับโครงการของ AP ทางบริษัทยินดีรับผิดชอบ ถ้าเป็นสิ่งที่เกินธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่กล่าวอ้างว่า เมื่อมีการจัดตั้งนิติบุคคลอย่างเป็นทางการแล้ว ทางบริษัท AP จะหายไป ขอยืนยันว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด ซึ่งยืนยันว่าจะอยู่เคียงข้างกับชาวบ้าน แม้ว่าจะจัดตั้งนิติบุคคลแล้วก็ตาม”
- AP ดูแลค่าใช้จ่าย 100%! เป็นไปได้จริง หรือแค่ฝันไป?
ทีมข่าวถามถึงกรณีที่ทาง AP ยังยืนยันที่จะจ่าย 70:30 แต่ถ้าสุดท้ายแล้ว ทาง สคบ. และ วสท. เคาะมาแล้วว่า AP ต้องจ่าย 100% จึงจะถูกต้องตามหลักการ และแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น การดูแลค่าใช้จ่าย 100% เป็นไปได้หรือไม่?
รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอพีฯ กล่าวว่า จะต้องมีการพูดคุยร่วมกันด้วยเหตุและผล ซึ่งทาง AP ยินดีรับฟังได้ ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนของลานจอดรถไม่ได้อยู่ในสัญญาการประกัน ซึ่งทาง AP ก็ยังยินดีที่จะช่วยเหลือเยียวยา
ด้านรองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์การตลาด บมจ.AP กล่าวว่า ต้องขอความเห็นใจให้แก่ทางบริษัทบ้างว่า ทาง AP ยินดีช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว หากมีการจัดตั้งนิติบุคคลอย่างสมบูรณ์ มีการชำระเงินค่าส่วนกลางผ่านนิติบุคคล มีตัวกลางในการรับฟังปัญหาเพื่อแก้ไข ตนมองว่าทุกอย่างก็คงจะกลับมาเหมือนเดิมและดีขึ้น
ทวงถามความคืบหน้าปัญหา ลูกค้าตลาดอสังหาฯอ่านก่อนตัดสินใจ ประมวลดูเถิด ซื้อแล้วสุขหรือไม่ บทสรุปจะเป็นเช่นไร ติดตามกันต่อไป...
**ในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับทรรศนะของฝั่งภาครัฐต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สคบ. วสท. สำนักงานเขต โดยองค์กรต่างๆ เหล่านี้จะมีมุมมองเช่นไรต่อปัญหาดังกล่าว...ใครต้องรับผิดชอบ? โครงสร้างอาคารดีแล้วหรือไม่? ติดตามได้ในวันพรุ่งนี้ (16 ก.ค.58)
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!