แต่ถ้าเรานำเอาคำจำกัดความของค่าจ้างขั้นต่ำในอดีตของ ไอแอลโอ (ILO) มาใช้ กล่าวคือ รายได้ของคนงาน 1 คน จะต้องสามารถเลี้ยงสมาชิกครอบครัวได้อีก 2 คน ก็จะพบว่ารายได้ 300 บาท (ที่ไม่ได้ทำโอที-OT) นี้ เลี้ยงคนในครอบครัวโดยเฉลี่ยไม่เพียงพอ จากการวิเคราะห์เส้นยากจนใน 77 จังหวัด พบว่าครอบครัวที่มีคนอยู่ด้วยกัน 3 คนมากถึง 61 จังหวัด (ร้อยละ79) ในเขตเทศบาลที่รายได้ต่อวัน 300 บาท ติดลบต่ำกว่าเส้นยากจนมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด อย่างไรก็ตาม ถ้าครัวเรือนเหล่านั้นอาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล พบว่าสามารถเลี้ยงดูครอบครัว (อยู่ด้วยกัน 3 คน) ได้ดีกว่าผู้ที่อาศัยในเมือง กล่าวคือ ยังมีครอบครัวใน 38 จังหวัด (ร้อยละ 49) ที่รายได้ 300 บาทต่ำกว่าเส้นยากจน ซึ่งแน่นอนครอบครัวเหล่านี้ถ้ามีเพียง 1 คน ที่หารายได้เลี้ยงภรรยาและบุตร 1 คน ที่ยังไม่มีรายได้ ต้องเผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายชักหน้าไม่ถึงหลังแน่นอน
ในสภาพเป็นจริงถ้ามีเพียง 1 คน ที่หารายได้ก็ต้องทำงานเพิ่มเติม เช่น ทำงานล่วงเวลา หรือหารายได้เสริมในวันหยุด หรืออาจจะให้ภรรยาหรือสามีคนใดคนหนึ่งช่วยทำงานหารายได้เสริมให้กับครอบครัว และที่จริงก็คงมีครอบครัวไม่มากนัก ที่แต่งงานมีบุตรแล้วและจะยังเป็นลูกจ้าง "แรกเข้า" ทำงานและให้สามีหรือภรรยาทำงานแต่ฝ่ายเดียว
ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ปัญหาที่น่าห่วงมากก็คงเป็นเรื่องของคนงานที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างรายวันที่ทำงานในสถานประกอบการขนาดเล็ก และขนาดย่อม ซึ่งไม่มีโครงสร้างเงินเดือน ผู้ประกอบการก็จะอาศัยอ้างอิงค่าจ้างขั้นต่ำเป็นพื้นฐานในการจ่ายค่าจ้าง และที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติก็คือ ลูกจ้างในภาคเกษตรมีค่าจ้างต่ำมากไม่ถึง 250 บาทต่อวัน และถ้าต้องเลี้ยงดูคนอีก 2 คนในครอบครัวก็จะตกอยู่ในฐานะ "ครอบครัวยากจน" แน่นอน